กรมชลประทาน พร้อมรับมือ "ฝนตกหนัก" ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
"กรมชลประทาน" เตรียมแผนรับมือ "ฝนตกหนัก" ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 4 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม หลังสถานการณ์ฝนปี 65 สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 27%
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน ลงพื้นที่ติดตาม "สถานการณ์น้ำ" ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีนายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวม และการเตรียมความพร้อมตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ จ.สงขลา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 (สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล) ภาพรวมในปี 2565 นี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 27%
ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง
กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ ดังนี้
- จ.สงขลา ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ ชุมชนริมคลองธรรมชาติ อ.หาดใหญ่ และบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ
- จ.พัทลุง ได้แก่ อ.ศรีบรรพต อ.เขาชัยสน และบริเวณขอบทะเลสาบ อ.เมือง
- จ.ตรัง ได้แก่ อ.เมือง ตลาดนาโยง อ.นาโยง และตลาดเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว
- จ.สตูล ได้แก่ อ.เมือง และ อ.ละงู
ทั้งนี้ได้กำชับให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำต่างๆ ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เป็นต้น รวม 247 หน่วย ที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและลดผลกระทบสถานการณ์อุทกภัยได้ทันท่วงที
ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงแล้วรวม 36 เครื่อง จากแผน 128 เครื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก รวมไปถึงการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ยังได้วางแผนปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่ที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและพื้นที่ชลประทานได้มากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งสามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต