อย่าให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอกับความขัดแย้งของคนในชาติ ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา สังคมที่สามารถก้าวไปข้างหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนแต่เคยเจอเรื่องแบบนี้ทั้งนั้น
เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการปรับตัวของสังคมให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาช่วงปี พ.ศ. 2404-2408 เพื่อเลิกทาส ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจกับผู้เสียประโยชน์ โดยเฉพาะนายทุนเจ้าของที่ดินในทางใต้ ที่มองว่า ทาสเป็นเพียงทรัพย์สิน คนผิวดำและคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าคนผิวขาว
ความไม่พอใจนี้ ทำให้รัฐทางใต้เจ็ดรัฐประกาศแยกตัวเป็นอิสระ เจมส์ บูแคนัน ซึ่งกำลังจะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และอับราฮัม ลินคอล์น ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ยอมให้รัฐทั้งเจ็ดแยกตัว หากยืนยันจะแยกตัว ก็จะถือว่าเป็นกบฏ ต้องถูกปราบปราม
แม้ว่าสุดท้าย ลินคอล์นเป็นผู้กำชัยชนะ แต่บ้านเมืองก็บอบช้ำไม่น้อย มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงทาสจะได้รับอิสระ แต่ก็มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าคนผิวขาว และทัศนคติเชิงลบของคนผิวขาวที่มีต่อคนผิวดำและคนผิวสีก็ไม่ได้จางหายไปทันที อเมริกาต้องใช้กว่าร้อยปี กว่าจะเยียวยาบาดแผลทางสังคมนี้ให้ลดลงได้
ความขัดแย้งนี้ถือเป็นการนับหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนต่างๆ ไม่เฉพาะแต่คนผิวสี แต่ยังรวมไปถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของหญิงและชาย ความเท่าเทียมกันของโอกาสที่จะเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เพื่อให้ทุกคนมีระดับความเป็นอยู่ขึ้นต่ำใกล้เคียงกัน
ใครจะไปคิดว่า วันหนึ่งประเทศอเมริกาจะมีประธานาธิบดีที่ไม่ใช่คนผิวขาว และก็เป็นไปได้ว่า อีกไม่นาน ประธานาธิบดีของอเมริกาอาจเป็นผู้หญิงก็ได้
มาเลเซีย ซึ่งตอนนี้รายได้ต่อหัวนำหน้าเราไปแล้ว ก็เคยเจอกับปัญหาทำนองเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่ออังกฤษเริ่มถอนตัวออกจากมาเลเซีย เค้าลางของความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น เพราะมาเลเซียประกอบไปด้วยคนสามเชื้อชาติ คนมาเลย์ คนจีน และคนอินเดีย
อำนาจการบริการจัดการรัฐตกอยู่กับคนมาเลย์ คนจีนกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ คนอินเดียกลายเป็นชนชั้นแรงงาน การถอนตัวไปของอังกฤษทำให้สามเชื้อชาติต่อสู้แก่งแย่งกันเพื่อหาประโยชน์จากภาวะสุญญากาศนั้น มีการเสียเลือดเนื้อกันไม่น้อย เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังถูกหว่านไว้ในใจของทุกคน
แม้ว่าความขัดแย้งนี้ยังไม่หายไปจนหมดสิ้น แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเข้มข้นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะนโยบายที่มุ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีกว่าเดิม
สมัยนี้ คนจีนแต่งงานกับคนมาเลย์มีมากขึ้น คนอินเดียที่เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศมีไม่น้อย ความแตกต่างในทางเชื้อชาติเริ่มลดลง คงใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าคนทั้งสามเชื้อชาตินี้ จะสามารถยอมรับกันความแตกต่างของกันและกันได้อย่างสนิทใจ แต่อย่างน้อย ทิศทางที่สังคมของเขากำลังมุ่งหน้าไป ก็พอจะเป็นหลักประกันได้ว่า พวกเขาเดินมาถูกทาง
สำหรับประเทศไทยของเรา คนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มเห็นคุณค่าและหวงแหนสิทธิทางการเมืองของตนเองมากขึ้น ไม่ต้องการให้ใครมาชี้นำ รู้จักคิด รู้จักใช้วิจารญาณ ไม่ยอมถูกชักจูงหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครได้โดยง่าย ท่ามกลางความมืดมิด
บางทีการตั้งคำถามที่ไม่เคยถูกถาม การแสดงออกในเรื่องที่เราเคยมองข้าม มันอาจเป็น ประกายเล็กๆ ซึ่งจะคอยนำทางให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า ขึ้นอยู่กับท่าทีที่คนในสังคมมีต่อเรื่องเหล่านี้ เราเลือกจะเกลียดกัน หรือหันหน้าเข้าหากันพูดคุยกันอย่างตั้งใจ ในแบบที่ทุกฝ่ายวางอัตตาของตัวเองลง เพื่อจะได้เข้าใจกันให้มากขึ้น ไม่ได้คุยกันเพื่อเอาชนะ
หากเราก้าวข้ามจุดยืนที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ เลิกแบ่งเขาแบ่งเรา เลิกเสพข้อมูลจากคนที่สร้างวาทะกรรมส่งเสริมความแตกแยกในสังคม ปล่อยให้คนเหล่านี้เฉาตายไปอย่างไร้ค่า แล้วเดินโดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า เราจะสามารถสร้างประเทศที่คนที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ประวัติศาสตร์บอกเราว่า การเปลี่ยนผ่านทุกครั้งย่อมมีความเจ็บปวดสูญเสีย แต่สังคมที่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านั้นและปรับตัวได้จะกลายเป็นสังคมที่มีรากฐานเข้มแข็ง มีความงดงามน่าอยู่
หากคนในสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน ความขัดแย้งก็จะเป็นแค่ความแตกต่างทางความคิด ที่สามารถดำรงอยู่ไปด้วยกันได้ ในโลกที่ทุกอย่างทุกอย่างหมุนเร็วเช่นนี้ การจับมือเดินหน้าไปด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ คือ เงื่อนไขสำคัญของการชนะโลกของ VUCA และ BANI ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องอยู่กับมันไปอีกหลายสิบปี.
คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[email protected].