"ควบรวมพรรค"สูตรในฝัน เริ่มต้นขัดแย้ง-จุดจบแตกแยก?
กรณีของ “ไทยสร้างไทย+สร้างอนาคตไทย” และ “รวมพลัง+รวมไทยสร้างชาติ” ก็ไม่พ้นวังวนปัญหานี้ และหากควบรวมแล้ว กระแสไม่เกื้อหนุนกัน ก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย
กติกาบัตรเลือกตั้งสองใบ ทำให้พรรคเกิดใหม่สิ้นหวัง โอกาสได้เก้าอี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เหลือเพียงน้อยนิด ส่วนโอกาสได้ ส.ส.เขต ยิ่งห่างไกลออกไป เพราะ “นักเลือกตั้ง” เกรดเอ-เกรดบี กลับหลังหันไปซบพรรคใหญ่
โมเดลการควบรวมพรรคจึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจากพรรคกล้า “กรณ์ จาติกวณิช” คำนวณทิศทางการเมืองแล้วยากที่พรรคกล้าจะมี ส.ส. จึงหันไปพึ่งแต้มบุญของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” แกนนำพรรคชาติพัฒนา ที่ขาดขุนพลทางเศรษฐกิจ จนมารวมเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า
“สุวัจน์-กรณ์” หาจุดกึ่งกลางที่ลงตัวกันได้ แต่ก็มีจุดเด่นกันคนละด้าน “สุวัจน์” มีฐานเสียงใน จ.นครราชสีมา “กรณ์” มีภาพลักษณ์มือเศรษฐกิจที่มีความน่าเชื่อถือ การควบรวมพรรคจึงไม่ต้องใช้เวลานาน
แตกต่างจากพรรคไทยสร้างไทย ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับพรรคสร้างอนาคตไทย ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่เปิดดีลหารือกันหลายรอบ แต่ยังไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้
ข้อเสนอบนโต๊ะเจรจา “สุดารัตน์” ไม่ขัดข้องข้อเสนอของ “สมคิด” ที่จะขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลำดับหนึ่ง แต่มีเงื่อนไขว่าการบริหารจัดการภายในพรรคต้องใช้บริการของ “ทีมสุดารัตน์” เพราะมีมือไม้ที่รู้งานการเมืองมากกว่า
โดย “สมคิด” ไม่ขัดข้องเช่นกัน หาก “สุดารัตน์” จะนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่ที่ตกลงกันไม่ได้คือ "เก้าอี้เลขาธิการพรรค" ฝั่งไทยสร้างไทยต้องการโปรโมท “ศิธา ทิวารี” ฝั่งสร้างอนาคตไทยอยากให้ “อุตตม สาวนายน” คอยเป็นตัวเชื่อม
นอกจากนี้ “ทีมงานหลังบ้าน” เป็นอีกส่วนที่เคลียร์กันไม่ลง มีกระแสข่าวว่า “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ต้องการยกทีมมาบริหารจัดการงานในทุกมิติ หากสามารถควบรวมพรรคกันได้
ทว่ากลับโดน “สุดารัตน์-ไทยสร้างไทย” ขวางเต็มลำ เพราะวงในรับรู้กันดีว่า หากปล่อยให้ยี่ห้อ “สุรนันทน์” เข้ามาจัดการภายในพรรคแรงต้านอาจเพิ่มทวีคูณ แถมการแบ่งโควตาผู้สมัคร ส.ส. กทม. จะตกลงกันยากกว่าเดิม เนื่องจากต่างก็ต้องการแข่งกันใหญ่
ดังนั้น จึงต้องลุ้นว่า “สุดารัตน์-สมคิด” จะหาจุดกึ่งกลาง พบกันครึ่งทางอย่างไร เพื่อสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ในการสร้างความแข็งแกร่งให้พรรคใหม่
ด้านพรรคเครือข่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม โฟกัสไปที่ "พรรครวมพลัง" ที่มีเงาของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” บัญชาการอยู่เบื้องหลัง "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งหัวหน้าพรรค มีโมเดลจะควบรวมเช่นกัน หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจไม่ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ
การควบรวม “รวมพลัง-รวมไทยสร้างชาติ” ไม่มีปัญหาทางกระบวนการ บุคลากร-ทุน พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน แม้จะไม่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ทุบโต๊ะทุกอย่างจะเรียบร้อย
ทว่า ปัญหาหลักอยู่ที่ ฐานเสียง-กระแสนิยม อย่าลืมว่ายี่ห้อ “กปปส.” ที่ติดตัวพรรครวมพลัง-สุเทพ แทบไม่มีกระแสด้านบวก และอาจฉุดรั้งกระแสของพรรครวมไทยสร้างชาติให้ตกลงด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือผลการเลือกตั้งปี 2562 “สุเทพ” คาดหวังว่าจะคว้า ส.ส. สุราษฎร์ธานี แต่ท้ายสุดแพ้ทุกเขต พรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งยกจังหวัด
มาเที่ยวนี้ “พีระพันธุ์” สามารถดึงตัว “กำนันศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่คนละขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงานได้ ซึ่ง “ชาวหอยใหญ่” รู้ดีว่า “กำนันศักดิ์” เดินคนละทางกับ “สุเทพ” เผลอๆ วัดกันปอนด์ต่อปอนด์ “กำนันศักดิ์” มีภาษีดีกว่า “ลุงกำนัน”
ที่สำคัญการตระบัดสัตย์ของ “สุเทพ” ที่จะไม่ลงสนามการเมือง ยังฝังใจ “ชาวใต้” ที่มักจะยึดสัจจะเป็นสำคัญ “สุเทพ” จึงโดนสั่งสอนในการเลือกตั้งปี 2562
ดังนั้นหากพรรครวมพลัง จะมาควบรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะต้องคำนวณกระแสนิยมเสียใหม่
แม้การควบรวมพรรคจะเป็นโมเดลในฝัน แต่หากจุดเริ่มต้น ด้วยการแย่งชิงอำนาจภายใต้พรรคกันเอง จึงพอมองเห็นอนาคตว่าจุดจบจะเป็นอย่างไร
กรณีของ “ไทยสร้างไทย+สร้างอนาคตไทย” และ “รวมพลัง+รวมไทยสร้างชาติ” ก็ไม่พ้นวังวนปัญหานี้ และหากควบรวมแล้ว กระแสไม่เกื้อหนุนกัน ก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย