องค์ประกอบรัฐบาลสู่อนาคต | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

องค์ประกอบรัฐบาลสู่อนาคต | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

การเป็นรัฐบาลที่พร้อมตอบโจทย์อนาคตในบริบทที่ท้าทาย ควรมีองค์ประกอบอย่างไร รัฐบาลนานาประเทศกำลังเผชิญกับแรงกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน การแบ่งขั้วอำนาจและความไว้วางใจในสังคมที่ลดลง การย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ และสังคมสูงวัย

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนเหล่านี้ แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐต้องคำนึงความเป็นไปได้เชิงอนาคต และแนวทางการคาดการณ์เชิงอนาคต (Foresight) ช่วยในการเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว 

จากการรวบรวมข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้เสนอองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการคาดการณ์เชิงอนาคตในรัฐบาล โดยมีการกำหนดองค์ประกอบ 4 ประการ 

ประการแรก ระบุความต้องการ (demand)  การระบุความต้องการด้านการศึกษาเชิงอนาคตอย่างต่อเนื่องจากผู้นำระดับสูงในรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐช่วยสะท้อนความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงาน การจัดสรรทรัพยากรบุคลากรและงบประมาณ

นอกจากนี้ จะช่วยให้เกิดการถ่วงดุลลักษณะงานที่ต้องดำเนินการหน้างานและเตรียมการสำหรับอนาคตให้ไปด้วยกันอย่างสมดุลมากขึ้น 

การระบุความต้องการเชิงอนาคตจากผู้นำระดับสูงในรัฐบาลทำได้หลายลักษณะดังเช่นจากประสบการณ์ของนานาชาติ ได้แก่

1) การกำหนดเป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย เช่น ประเทศฟินแลนด์ได้ระบุข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับการศึกษาเชิงอนาคตให้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอวาระเป็นประจำ ในขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์ ได้กำหนดให้การพิจารณาพระราชบัญญัติการคลังสาธารณะต้องมีการศึกษาเมกะเทรนด์เป็นประจำเพื่อเสนอต่อรัฐสภาด้วย

2) การกำกับดูแลโดยรัฐสภา ตัวอย่างจากประเทศเอสโตเนียและไอซ์แลนด์ ดำเนินการผ่านคณะกรรมการรัฐสภาเกี่ยวกับอนาคต โดยที่สำนักนายกรัฐมนตรีออกรายงานอนาคตของรัฐบาลโดยภาพรวมต่อคณะกรรมการเพื่ออนาคตของรัฐสภาอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อวาระ รวมถึงแนวโน้มอนาคตระยะยาวและเป้าหมายของรัฐบาลในระยะต่อไป

3) การมีเจตจำนงทางการเมืองโดยตรง เช่น กรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้ได้ก่อตั้งสถาบันอนาคตศึกษาภายใต้รัฐสภา หรือ National Assembly Futures Institute ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของของประธานรัฐสภา และ

4) การมีต้นแบบในการขับเคลื่อนด้านอนาคตโดยข้าราชการระดับสูงในประเทศ เช่น อดีตผู้บริหารระดับสูงในสิงคโปร์ อย่างคุณปีเตอร์ โฮ ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนหน่วยงานอนาคตศึกษาของภาครัฐสิงคโปร์ 

องค์ประกอบรัฐบาลสู่อนาคต | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

ประการที่สอง ขีดความสามารถ (Capacity) ในการตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลด้านอนาคตศึกษา จำเป็นต้องเพิ่มขีดความความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการนำการคาดการณ์อนาคตไปใช้ในการกำหนดนโยบาย บุคลากรจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทั้งในทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมมองอนาคตข้างหน้า ท้าทายสมมติฐานเดิม และสะท้อนความเป็นไปได้เชิงนโยบายและยุทธ์ศาสตร์ 

ตัวอย่างของบทบาทผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคต เพื่อพัฒนาอนาคตที่เป็นไปได้หลากหลาย และผู้เชี่ยวชาญเชิงกระบวนการอนาคต เพื่อออกแบบแนวทาง กระบวนการ และการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ นักวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อรวบรวมสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง และนักวิเคราะห์นโยบาย เพื่อออกแบบและทดสอบข้อเสนอนโยบายกับอนาคตที่หลากหลาย 

ประการที่สาม การเตรียมความพร้อมเชิงสถาบัน (Institution) การเตรียมความพร้อมเชิงสถาบันที่จำเป็นต่อการคาดการณ์อนาคตสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ แต่แนวทางที่สำคัญคือการมีหน่วยงานเฉพาะที่เป็นศูนย์กลางอย่างน้อยหนึ่งหน่วยเพื่อสนับสนุน ดำเนินการ และประสานงานทั่วทั้งรัฐบาล 

จุดมุ่งหมายของหน่วยงานนี้ ไม่ใช่เพื่อการรวมศูนย์การทำงาน แต่เป็นการบูรณาการแนวทางและกระบวนการคาดการณ์อนาคตในทุกหน่วยงานของรัฐ

โดยขอบเขตของการทำงานจะมีบทบาทหลักในการผลักดันงานด้านอนาคตศึกษาในระดับสูง (High Level) ประสานกระบวนการที่เป็นประเด็นข้ามหน่วยงาน (cross-cutting) และสนับสนุนการนำผลการศึกษาด้านอนาคตมาใช้ในหน่วยงานเฉพาะ 

กรณีศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ มีการจัดตั้งศูนย์อนาคตศึกษา ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการและประสานงานการศึกษาการคาดการณ์อนาคตข้ามหน่วยงาน

องค์ประกอบรัฐบาลสู่อนาคต | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

นอกจากนี้ หน่วยงานอื่นๆ อย่างผู้ตรวจประเมินสามารถมีส่วนร่วมผ่านการประเมินการปฏิบัติงานโดยมีเกณฑ์ด้านอนาคตศึกษาประกอบการพิจารณา หรือกระทรวงการคลังอาจกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดส่งเอกสารเพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเลือกในอนาคตที่อาจส่งผลต่องบประมาณ ต้นทุนและรายได้ในอนาคต

ประการที่สี่ การผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (Embeddedness) การทำงานด้านอนาคตศึกษาไม่ควรถูกมองว่าเป็นงานที่แยกออกจากงานหลักหรือเป็นทางเลือกสำหรับกระบวนการตัดสินใจแบบเดิม แต่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกกระบวนการจัดทำและดำเนินนโยบาย

สายงานทั้งหมดสามารถทำงานที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับระบบการคาดการณ์อนาคตได้ ตั้งแต่การกวาดหาสัญญาณแนวโน้ม ไปจนถึงการทดสอบแนวทางของกลยุทธ์กับสถานการณ์ทางเลือกสำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ

 การมีส่วนร่วมกับข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองผ่านกระบวนการด้านอนาคตศึกษา เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่นักการเมืองมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อฉากทัศน์อนาคตของประเทศ (National Scenarios)  ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมีส่วนร่วมผ่านช่องทางอื่น เช่น การประชุม Strategic Futures Network ทุกไตรมาส

จากองค์ประกอบทั้งสี่ที่กล่าวมา นัยยะที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาครัฐเพื่อตอบโจทย์อนาคตนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงไม่เพียงแค่ทักษะ ความรู้ และเครื่องมือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทัศนคติและเจตจำนงทางการเมืองที่ตั้งใจจะมีส่วนร่วมในการตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความไม่แน่นอนสูงที่นานาประเทศกำลังเผชิญอยู่ต่อไป. 
องค์ประกอบรัฐบาลสู่อนาคต | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

คอลัมน์ คิดอนาคต
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation