ชลประทาน เตรียมรับมือฤดูแล้ง พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคใต้
กรมชลประทาน เตรียมรับมือฤดูแล้งตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง65/66 พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุม SWOC อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ ตลอดจนผลดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง รวมทั้งความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ได้รับผลกระทบ กรมชลประทาน ได้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี65 อย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามหลักวิศวกรรม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่หลังประสบภัยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทาน ระบบส่งน้ำต่างๆ ให้สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกต่อไปในช่วงฤดูแล้งนี้ รวมไปถึงวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ให้สอดคล้องตามปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้า ตามลำดับ ที่สำคัญได้เตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้ง ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กำหนดพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงที่สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ในทันที ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ในการนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งปฏิบัติตามกลไก แผนการระบายน้ำที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด พร้อมนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในปีที่ผ่านมา มาปรับเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ นั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำหลากพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ รวมทั้งยังใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกันนี้ให้เร่งดำเนินการโครงการ 9 แผนหลักลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างถาวร รวมทั้งจัดทำแผนแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เพื่อเสนอคณะทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบต่อไป