"ศุภชัย" แจงยิบปมครอบครองที่ดินป่าดงพะทาย ยันมีสิทธิ์อย่างชอบธรรม
ศุภชัย โพธิ์สุ หรือ ครูแก้ว รองประธานสภาฯคนที่ 2 ย้ำมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินป่าดงพะทายอย่างชอบธรรม ขณะที่ดินยันไม่ผิดกฎหมาย
วันที่ 3 ธันวาคม 2565 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่ทำการพรรคภูมิใจไทยจังหวัดนครพนม เกี่ยวกับกรณีข่าวคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอวาระเข้าสภาเพื่อพิจารณาเอาผิดตนเอง หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่าตนครอบครองที่ดินป่าดงพะทาย ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โดย นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่ 2 กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่มีการร้องไปที่กรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯไปแล้วว่าตนได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2531 ถึง 2532 ซึ่งขณะนั้นตนยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าหนามแก้ว ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และตนมาเป็น ส.ส. เมื่อปี 2544 นั่นย่อมแสดงว่าตนไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ความเป็น ส.ส. เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเหล่านั้นแต่อย่างใด
ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ เมื่อปี 2518 ถึง 2519 รัฐบาลได้ทำการจัดสรรที่ดินดงพะทายให้ชาวบ้านทำกิน โดยแบ่งเป็นล็อค ๆ ละ 10 ไร่เพื่อทำการเกษตร และยังให้เป็นที่อยู่อาศัยอีกคนละ 1 ไร่ โดยมีคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติจัดเสร็จแล้วก็ปิดโครงการ และมอบที่ดินให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมสาขาท่าอุเทน เป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมาชาวบ้านที่ได้รับจัดสรรได้รับใบจองที่ทางการออกให้แล้ว แต่ก็ไม่เข้าไปทำประโยชน์ เนื่องจากเป็นคนต่างถิ่นเห็นว่าเป็นที่ทุรกันดารจึงขายออกไปบ้าง บางรายขายถูก ๆ เพื่อหาค่ารถกลับบ้านก็มี หลังจากจับฉลากได้ใบจองมาแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่จึงซื้อสิทธิ์ไว้ เป็นเหตุให้ต่อมาปรากฏชื่อผู้ครอบครองทำกินในที่ดินบริเวณนั้นส่วนใหญ่คือคนในพื้นที่ ที่ไม่มีชื่อในใบจองและมีการขายเปลี่ยนมือกันมาเรื่อย ๆ และทำกินในที่ดินโดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ เนื่องจากไม่สามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ได้ เพราะที่ที่ครอบครองอยู่เอกสารใบจองเป็นชื่อของคนนอกพื้นที่ก็เลยยืดเยื้อเป็นปัญหาเรื่อยมา
และต่อมา อธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้รับมอบอำนาจ ได้วางนโยบายให้สำนักงานที่ดินฯได้มีการสำรวจ ถ้าใครได้ใบจองแล้วทำผิดเงื่อนไข ไม่เข้าทำประโยชน์ หรือซื้อขายเปลี่ยนมือไปทำให้ผิดเงื่อนไข เนื่องจากใบจองจริง ๆ ซื้อขายไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจำหน่ายใบจองที่ผู้มีชื่อในใบจองแต่ไม่เข้าทำประโยชน์ออกไปก่อน เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจึงได้ทยอยประกาศจำหน่ายใบจองในพื้นที่ป่าดงพะทาย จำนวนทั้งหมดประมาณ 20,000 ไร่ โดยมีผู้ที่ครอบครองที่ดินและทำกินอยู่ไม่ตรงชื่อตามใบจอง รวมทั้งสิ้นถึง 880 แปลง จากนั้นคนที่ครอบครองอยู่จึงจะสามารถไปดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดินต่อไป
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมลงนามเพิกถอนใบจองในครั้งนี้นั้น เป็นการจำหน่ายใบจองของประชาชนที่มีชื่อครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้เข้าทำประโยชน์ เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองทำกินจริง ๆ สามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายที่ดินขอออกเอกสารสิทธิ์ได้ต่อไปนั่นเอง จึงไม่ใช่การประกาศยึดที่ของใครคนใดคนหนึ่งตามที่เป็นข่าว ซึ่งที่ของตนก็ไม่มีใครยึดได้ เพราะตนครอบครองมา 20 กว่าปีแล้ว การที่ลงข่าวพาดหัวดังกล่าวน่าจะเป็นเจตนาที่ไม่เข้าใจเรื่องราวที่แท้จริง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 นายบุญนาก ถิระสวัสดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม ได้มีหนังสือรายงานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กรณีได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งเรื่องขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมตรวจสอบการครอบครองที่ดินบริเวณป่าดงพะทาย ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ของนายศุภชัย โพธิ์สุ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2518 ถึง 2519 กรมที่ดินได้มีโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ป่าดงพะทาย ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 1 , 5 , 6 และ 9 ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีเนื้อที่ประมาณ 21,500 ไร่ และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่านายศุภชัย โพธิ์สุ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณป่าดงพะทาย จำนวนทั้งสิ้น 40 แปลง เมื่อประมาณปี 2532 และที่ดินทั้ง 40 แปลงดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้มีคำสั่งให้ผู้มีชื่อตามใบจองออกไปจากที่ดินและขาดสิทธิ์ไปทั้งหมดแล้ว โดยในการจัดสรรที่ดินครั้งนั้นจังหวัดนครพนมได้ปิดหน่วยจัดที่ดินและรายงานผลการดำเนินการให้กรมที่ดินทราบแล้ว ซึ่งถือได้ว่าภาระกิจการจัดที่ดินตามโครงการได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเสร็จสิ้นแล้ว
ดังนั้นที่ดินที่จัดสรรจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายทั่วไป กล่าวคือ ที่ดินส่วนที่เป็นถนนหรือที่สาธารณะประโยชน์จะมีสถานะเป็นที่สาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ส่วนที่ดินที่จัดสรรให้แก่ราษฎรอยู่อาศัยและทำกิน แต่ผู้ได้รับการจัดสรรเดิมได้ละทิ้งไปด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม เมื่ออธิบดีกรมที่ดินโดยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับมอบอำนาจได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเดิมออกจากที่ดินตามมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วที่ดินนั้นก็จะมีสถานะเป็นที่สาธารณะประโยชน์ประเภท รกร้างว่างเปล่า ประกอบกับที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรหรือที่ป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเดิมออกจากที่ดินแล้ว ตนก็สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้และสามารถขอออกเอกสารสิทธิ์ได้ด้วย โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ข่าว/ภาพโดย ทวี อภิสกุลชาติ จ.นครพนม