แนะ 3 วิธีสังเกตสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนอาหาร ชี้ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิม

แนะ 3 วิธีสังเกตสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนอาหาร ชี้ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิม

"รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์" แนะ 3 วิธีสังเกตอาหารที่อาจปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน ชี้หากซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจางก่อนล้างออกด้วยน้ำเพื่อความปลอดภัย

จากกรณีกรมปศุสัตว์ มีการตรวจพบสารเคมีทั้งฟอร์มาลีน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ผสมกับวัตถุดิบเนื้อสัตว์และเครื่องในกว่า 25,000 กิโลกรัม และส่งขายให้ร้านอาหาร 66 ร้านในภาคตะวันออก

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเตือนถึงพิษฟอร์มาลีนต่อสุขภาพ โดยระบุว่า พิษแบบเฉียบพลันหากได้รับสูงเกิน 0.1 ppm ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูกและทางเดินหายใจ แต่หากได้รับปริมาณเข้มข้นสูงเกิน 100 ppm อาจทำให้หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากที่ความเข้มข้นสูง ๆ สารฟอร์มาลีนจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิก (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
 

สำหรับอาการเรื้อรังหากได้รับปริมาณน้อย แต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยอาหารที่มักพบสารฟอร์มาลีนปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ

  1. ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่
  2. ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน 
  3. ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลีนปนเปื้อน

ทั้งนี้ เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลีนทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้