คะแนน ESG ดีจริงหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์
ในอดีตการวัดผลการดำเนินงานของบริษัทก็จะใช้ตัวเลขทางด้านการเงินหรือการตลาดเป็นหลัก แต่ปัจจุบันบริษัทจำนวนมากจะหันมาให้ความสำคัญกับผลการสำรวจโดยสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศกันมากขึ้น
สาเหตุสำคัญมาจากผลการดำเนินงานแบบดั้งเดิมจะมุ่งเน้นในสิ่งที่จับต้องได้และแสดงถึงผลการดำเนินงานในแบบที่คุ้นเคย
แต่ปัจจุบันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้คาดหวังให้บริษัทมีเฉพาะแต่ผลประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นบริษัทที่ดีด้วย ดังนั้น ESG (Environment, Social, Governance) เลยกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่บริษัทจะต้องมุ่งเน้น
ความท้าทายสำคัญคือ จะประเมิน ESG อย่างไร? เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บริษัทเลยต้องพึ่งบรรดาค่ายหรือสำนักที่สำรวจหรือจัดอันดับกันมากขึ้น
ผลสำรวจเรื่อง ESG ของบริษัทต่างๆ ได้มีออกมาอยู่หลายค่ายทั้งจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ค่ายต่างประเทศที่นิยม เป็นที่เชื่อถือและอ้างอิง ก็จะเป็น ESG Rating ของ DJSI, MSCI, Sustainalytics เป็นต้น
โดยผลการจัดอันดับต่างประเทศมักจะให้ออกมาเป็นคะแนนเลย ทั้งคะแนนของบริษัท คะแนนเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม หรือ เมื่อเทียบกับระดับโลก
สำหรับในระดับภูมิภาคหรือในประเทศนั้น ก็จะมี ASEAN CG Scorecard, THSI, CGR Checklist เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ผลของระดับภูมิภาคและในประเทศ จะแสดงออกมาเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มดีเลิศ ดีมาก ดี เป็นต้น
สำหรับกระบวนการประเมินนั้น ค่ายประเมินก็จะออกเกณฑ์ที่เกี่ยวกับ ESG จากนั้นบริษัทที่ต้องการเข้ารับการประเมินก็จะกรอกเอกสารหรือส่งข้อมูลกลับไปให้กับค่ายประเมิน นอกจากนี้ยังมีบางค่ายที่หาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อเผยแพร่ของบริษัทด้วย
คำถามสำคัญคือ คะแนนหรือผลการประเมินเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างไรต่อบริษัทบ้าง? หลักเลยคือ ภาพลักษณ์ของบริษัทว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG และทำให้นักลงทุนสามารถเลือกที่จะลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดี
แต่ขณะเดียวกัน กองทุนที่เป็นสถาบันขนาดใหญ่ จะมีทีมนักวิเคราะห์ นักวิจัยของตนเอง ที่เข้าไปสัมภาษณ์หรือถามคำถามกับผู้บริหารของบริษัทโดยตรง เพื่อประเมินบริษัทในด้าน ESG ด้วยเช่นกัน
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคะแนนการประเมินหรือจัดอันดับด้าน ESG นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดียังขาดความชัดเจนว่าการที่คนรุ่นใหม่ที่จะเลือกเข้าทำงานนั้น
จะพิจารณาเลือกทำงานบริษัทใดจากผลคะแนนด้าน ESG หรือไม่? หรือ ผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าและบริการ จะเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีคะแนน DJSI สูงที่สุดในอุตาหกรรมหรือไม่?
ความท้าทายอีกประการคือ คะแนนหรือผลการจัดอันดับที่ได้รับนั้น มักจะเกิดจากการประเมินทางเอกสารหรือการตอบคำถามของบริษัทเอง บางบริษัทอาจจะทำการบ้านและข้อสอบเก่ง สามารถตอบได้ตรงตามคำถามที่ได้รับ ทำให้ได้รับคะแนนออกมาดี ทำให้ความท้าทายสำคัญคือ
เมื่อระยะเวลาผ่านไปมากขึ้น ทุกบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการจัดอันดับหรือประเมินมากขึ้น สุดท้ายจะเข้าสู่ Ranking Game เหมือนที่เกิดกับสถาบันการศึกษาหรือไม่?
ในแวดวงการศึกษา ได้มีการจัดอันดับสถาบันทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและตามสาขาวิชากันมาหลายทศวรรษแล้ว ผู้ที่เห็นด้วยก็จะชี้ให้เห็นว่าการจัดอันดับโดยหน่วยงานภายนอกสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสถาบันการศึกษา
และเพื่อเป็นข้อมูลทั้งสำหรับผู้ที่สนใจสมัครเรียนหรือผู้สนับสนุนในด้านต่างๆ อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนให้กับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาตนเองได้ด้วย
ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็มองว่าเมื่อสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการจัดอันดับนั้น จะเข้าสู่ Ranking Game ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น โดยไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญต่อพันธกิจหลักของสถาบันแต่อย่างใด ทำให้บางสถาบันชั้นนำของโลกถึงขั้นประกาศว่าไม่สนใจรับการจัดอันดับแต่อย่างใด
สรุปยิ่งบริษัทมีความตื่นตัวในเรื่องของ ESG กันมากขึ้น เรื่องของการจัดอันดับหรือการประเมินโดยหน่วยงานภายนอกก็จะทวีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
แต่ยังไม่ชัดเจนว่าส่งผลต่อพนักงานหรือลูกค้าอย่างไร และข้อควรระวังคือการเข้าสู่ Ranking Game เหมือนที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษา
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]