เจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระกุศล "เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ"
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระกุศล เจ้าฟ้าพัชรกิติยาฯ ณ สำนักงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากฯ
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเป็นพระกุศล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงในเร็ววัน จัดขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
ในการนี้ได้รับเมตตาจากพระธรรมวชิราจารย์ (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ ป.ธ.8, ดร.) พระราชาคณะชั้นธรรม เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เป็นประธานสงฆ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธี โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
ภายหลังจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายธูปเทียนแพ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ หน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา นำกล่าวบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศล คณะสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และโพชฌังคปริตร
สำหรับบทสวดโพชฌังคปริตร นั้น โพชฌังคปริตร แปลว่า “องค์แห่งการตรัสรู้” หรือ “ธรรมที่เป็นองค์ประกอบแห่งการตื่นรู้” เป็นธรรมที่เกี่ยวกับปัญญา จัดเป็นธรรมชั้นสูง ทำให้ใจสว่างใส เมื่อใจสว่าง สงบ ร่างกายก็จะดีตามหลักที่ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” และชาวพุทธเชื่อกันว่าบทสวดโพชฌังคปริตร เป็นบทที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ เพราะเป็นบทสวดที่มีเสียงสระแค่สองจังหวะตลอดทั้งบท ทำให้คลื่นเสียงที่เกิดขึ้นจากการสวดมีความสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลต่อการเยียวยาอวัยวะ และระบบต่างๆ ในร่างกายได้ดี
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน และเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกัน และกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัย และภัยพิบัติที่รุนแรง อันได้แก่ การร่วมกันระดมองค์ความรู้ นวัตกรรม กำลังแรงกาย ทุนทรัพย์ และจิตสาธารณะ เพื่อช่วยเหลือ และฟื้นฟูอย่างครบวงจร รวมทั้งการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้ทุกข์ยากน้อยกว่าช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากมากกว่า ผู้ที่แข็งแรงช่วยผู้อ่อนแอ เป็นต้น มุ่งเน้นการประทังชีวิต และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ มูลนิธิฯ ปฏิบัติงาน และยึดหลักภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์