วิศวกรสังคมกับกฎหมาย | ธรรมรักษ์ จิตตะเสโน
เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า นักกฎหมายเป็นวิศวกรสังคม (Lawyer as the social engineer) คำว่า “วิศวกรสังคม” นี้ว่ากันว่ามีที่มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โลกตะวันตกเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมตะวันตกอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากเดิม มาสู่การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอุตสาหกรรม และย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
การขยายตัวของกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองหรือแหล่งชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต อาหารการกิน เครื่องมือเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย การดำเนินชีวิตการใช้เวลาพักผ่อน ที่มาของรายได้
และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การเลี้ยงดูบุตร การเข้าถึงการศึกษา เป็นต้น ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง
ในทางสังคมวิทยานั้นเป็นที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่า สังคมมีความเป็นพลวัตคือ เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมีพัฒนาการก้าวหน้า มีความเข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีบางกรณีการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเหตุให้เกิดปัญหาหรือความเสื่อมถอยของสังคมได้เช่นเดียวกัน ทำให้สังคมบิดเบี้ยวขาดสมดุลไม่มั่นคง หากปล่อยปละละเลยไม่แก้ไขย่อมเป็นผลให้เกิดปัญหาสังคม อาจบานปลายถึงการล่มสลายของสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่แม้ทำให้โครงสร้างสังคมบิดเบี้ยวขาดสมดุล ก็อาจมีคนบางกลุ่มหรือบางคนใช้เป็นโอกาสหรือช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ได้เสมอ
ดังนั้นการเฝ้าระวังและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ และต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะการแก้ไขปัญหาโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมซ้ำซ้อนขึ้นได้
รอสโค่ พาวนด์ (Roscoe Pound,1870-1964) นักวิชาการทางกฎหมาย และนักวิชาการทางการศึกษาสัญชาติอเมริกันผู้มีชื่อเสียง อดีตคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วารด์ บุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นนักวิชาการท่านหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีผลงานทางวิชาการซึ่งมีผู้อ้างถึงมากที่สุด
ได้นำเสนอทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Theory) ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมจำเป็นต้องมีผู้เฝ้าระวังดูแล และแก้ไขปัญหาความบิดเบี้ยวของโครงสร้างสังคมอย่างสม่ำเสมอ
กลุ่มคนที่คอยเฝ้าดู และศึกษาการเปลี่ยนแปลงตลอดจนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมได้รับการเรียกขานว่า “วิศวกรสังคม” (Social Engineer)
คนกลุ่มนี้คือผู้ที่ใส่ใจ สนใจ คิดและวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องราวและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบโดยมุ่งประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ
เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างคือกฎหมาย แต่การมีกฎหมายยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมได้ เพราะกฎหมายจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการนำไปใช้หรือมีการบังคับใช้กฎหมายโดยบุคลากรทางกฎหมาย
จากทฤษฎีวิศวกรรมสังคมข้างต้น ประกอบกับแนวคิดที่ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม และนักกฎหมายมีส่วนสำคัญในการนำกฎหมายที่มีอยู่ไปใช้บังคับ จึงเป็นที่มาของแนวความคิดว่านักกฎหมายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ “นักกฎหมายเป็นวิศวกรสังคม”
โดยมุ่งไปที่การปฏิบัติภารกิจ หรือการประกอบวิชาชีพของนักกฎหมายนั้นว่า จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แล้วใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของสังคมด้วย
กฎหมายปัจจุบันเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกบังคับใช้โดยอำนาจรัฐ แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีกฎหมายจะมีที่มาจากศีลธรรม จารีตประเพณี และเหตุผลปรุงแต่งทางกฎหมายอยู่มาก แต่เมื่อกระบวนการบัญญัติกฎหมายได้พัฒนามาเป็นการบัญญัติกฎหมายโดยอำนาจนิติบัญญัติ การบัญญัติ หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายย่อมทำไปเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ
ในบริบทที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์การจัดสรรผลประโยชน์ในสังคม หากกฎหมายที่ได้รับการบัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของสังคมโดยส่วนรวมอย่างสมดุล ย่อมมีส่วนในการสร้างความมั่นคงแก่โครงสร้างสังคม
แต่หากกฎหมายบัญญัติขึ้น เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของคนบางคนบางกลุ่ม ก็ย่อมเป็นการลดทอนประโยชน์โดยรวมของสังคมแล้วไปเพิ่มประโยชน์แก่บางคนบางกลุ่มได้เช่นเดียวกัน
การจัดสรรผลประโยชน์ของสังคมอย่างไม่สมดุลย่อมอาจส่งผลให้เกิดการบิดเบี้ยวของโครงสร้างสังคม เช่นปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นปัญหาสังคมไทยมายาวนาน เป็นต้น
ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Theory) ไม่ได้ถูกอ้างถึงเฉพาะในแวดวงวิชาการกฎหมายเท่านั้น แต่แพร่หลายไปอย่างหลากหลายเกิดการตีความ การให้ความหมายไปตามมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกัน
วิศวกรสังคมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะนักกฎหมายเท่านั้น แต่โดยความจริงแล้วย่อมรวมไปถึงในวิชาชีพอื่น ๆ และบุคคลโดยทั่ว ๆ ไป ที่มีความสนใจ ใส่ใจ ติดตามวิเคราะห์และร่วมคิดร่วมดำเนินการเพื่อค้ำจุนโครงสร้างของสังคมทุก ๆ คนด้วย
เมื่อกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม และการบัญญัติกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นตัวแทนของเราเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติหรือออกกฎหมายแทนเราทั้งหลาย
ดังนั้น หากเราเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาความบิดเบี้ยวของโครงสร้างสังคม ขอเรียกร้องให้ทุกท่านที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ร่วมเป็นวิศวกรสังคมไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเวลาไม่นานจากนี้
โดยเราทั้งหลายจะเลือกตัวแทนของเราด้วยความพินิจพิเคราะห์ เอาผลประโยชน์โดยรวมของสังคมเป็นที่ตั้ง เพื่อจะได้มีกฎหมายที่ดีเป็นกฎเกณฑ์นำพาสังคมไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป.