นิวยอร์กผ่านกฎหมายจัดการศพด้วยการ “ย่อยสลายร่างทำปุ๋ย”
นิวยอร์ก กลายเป็นรัฐล่าสุดของสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้นำร่างผู้เสียชีวิตไปย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ นับเป็นทางเลือกหลังความตายที่ช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
'เคธี โฮชุล' ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครตได้อนุมัติให้ผ่านกฎหมายการจัดการศพด้วยการย่อยสลายร่างให้กลายเป็นปุ๋ย เมื่อวันเสาร์(31ธ.ค.) นับเป็นรัฐที่ 6 ของสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้สามารถจัดการศพด้วยวิธีนี้
ในปี 2562 วอชิงตัน เป็นรัฐแรกของสหรัฐที่ทำให้วิธีการจัดการศพด้วยการย่อยสลายแบบนี้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามด้วยโคโลราโด โอเรกอน เวอร์มอนต์ แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กเป็นรัฐล่าสุด
สำหรับการย่อยสลายร่างผู้เสียชีวิต หรือที่เรียกว่า “การลดสารอินทรีย์ตามธรรมชาติ” (Natural Organic Reduction) สามารถเปลี่ยนร่างผู้เสียชีวิตให้กลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยศพจะถูกนำไปไว้ในตู้เหล็กปิดผนึกพร้อมกับวัสดุตามธรรมชาติอื่นๆ เช่น เศษไม้ หญ้าบางชนิด และฟาง โดยมีระบบควบคุมความชื้นและควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ให้พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หลังจากผ่านไปประมาณหนึ่งเดือนก็จะนำร่างที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยแล้วเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน จากนั้นก็จะส่งคืนแก่ครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก ที่สามารถนำไปใช้ในการปลูกดอกไม้ พืชผัก หรือต้นไม้ได้
วิธีการจัดการศพดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นทางเลือกหลังความตายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษได้ดีกว่าการฝังหรือเผา โดยโดยบริษัท Recompose ที่ทำธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการย่อยสลายศพมนุษย์แบบครบวงจร เผยว่า ธุรกิจของบริษัทที่ผ่านมาสามารถลดการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศได้ถึง 1 ตันเมื่อเทียบกับการเผาศพหรือการฝังศพแบบดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากก๊าซดังกล่าวทำหน้าที่ดักจับความร้อนของโลก หรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ขณะที่การฝังศพแบบดั้งเดิมยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้ทำโลงศพ ที่ดินที่ใช้ฝังศพ ฯลฯ
ผู้สนับสนุนการจัดการศพวิธีนี้บอกว่า การย่อยสลายร่างมนุษย์ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ใช้งานได้จริงมากกว่า ในเมืองที่มีที่ดินสำหรับสร้างสุสานจำกัด
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคน ยังมีคำถามเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับดินซึ่งเป็นผลมาจากการทำปุ๋ย โดยมีรายงานว่าบาทหลวงคาทอลิกในรัฐนิวยอร์กคัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยโต้แย้งว่าไม่ควรปฏิบัติต่อร่างกายมนุษย์เหมือน “ขยะในครัวเรือน”
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในการทำปุ๋ยที่ปัจจุบันยังมีราคาแพง ซึ่งประเด็นนี้บริษัท Recompose กล่าวว่าค่าธรรมเนียม 7,000 ดอลลาร์ (ราว 242,000 บาท) นั้นยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจัดการศพแบบอื่น เนื่องจากจำนวนเงินเฉลี่ยของงานศพที่มีการฝังศพในสหรัฐฯ อยู่ที่ 7,848 ดอลลาร์ในปี 2564 หรือ 6,971 ดอลลาร์สำหรับงานศพที่มีการเผาศพ ตามข้อมูลของ National Funeral Director Association (NFDA)