"เพชรพันปี" งานเข้า! ร้อง ปคบ. คดีหลอกขายไม่ตรงปก เสียหาย 30 ล้าน
ผู้เสียหายร้อง ปคบ. เอาผิด "เพชรพันปี" คดีซื้อเพชร-เครื่องรางของขลัง ได้ของปลอม-ไม่มีคุณภาพ เสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน อ้างสารพัดผ่านการปลุกเสก-วางดวงใต้ฐานพระแก้วมรกตเสริมดวง ผู้เสียหายแห่ซื้อเสริมสิริมงคล
กรณี "เพชรพันปี" คดีซื้อเพชร-เครื่องรางของขลัง ได้ของปลอม-ไม่มีคุณภาพ เสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม นําผู้เสียหายกว่าเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ให้เอาผิดทางกฎหมายกับร้านเพชรพันปี กรณีซื้อเพชรและเครื่องรางของขลัง แล้วได้สินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ มีทั้งของปลอมและของที่ไม่ได้คุณภาพ ความเสียหายรวมหลายสิบล้านบาท
นายรณณรงค์ กล่าวว่า นําผู้เสียหายที่ซื้อเพชร ของขลัง และอัญมณีทั้งหลาย จากร้านของน.ส.เพชรพันปี มาร้องกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ในเรื่องของสินค้าและสรรพคุณที่ไม่ตรงตามโฆษณามูลค่ารวมกันไม่ตํ่ากว่า 30 ล้าน อีกประเด็นคือ หลังจากมีการจัดฉากถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 24 ล้าน ที่มีดาราหนุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ปรากฏว่า มีประชาชนหลงเชื่อไปซื้อเครื่องรางของขลังเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลเป็นจํานวนมาก
ผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ได้ตรวจเช็กสินค้าที่เป็นพวกเครื่องรางของคลังในลาซาด้าพบขายอยู่ที่ราคา 149 บาท แต่ร้านเพชรพันปีให้บูชาในราคา 990 บาท อ้างว่ามีการปลุกเสกวิเศษ ใส่แล้วชีวิตจะดีขึ้น รวมถึงมีการโพสต์จะนําดวงของผู้เสียหายไปวางไว้ใต้ฐานพระแก้วมรกตเพื่อเสริมดวง จึงทําให้หลงเชื่อเพราะไม่ใช่ใครก็ได้จะสามารถเข้าไปถึงที่องค์พระแก้วมรกตได้หรือไม่
ขณะที่ผู้เสียหายกรณีแหวนเพชร เผยว่า ตามที่โฆษณา อ้างว่าเป็นเพชรนํ้า 100 หรือเพชรขาวใสไร้สี แต่เมื่อนําไปตรวจที่สถาบันเพชร พบว่าเป็นเพชรมีตําหนิ รวมไปถึงยังมีพลอยที่เป็นของปลอม ซึ่งหากคนที่ดูไม่เป็นหรือไม่ได้อยู่ในวงการนี้ก็ไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าอันไหนของแท้หรือของปลอม ส่วนทองคําที่มีการระบุนํ้าหนักทองชัดว่า 18 K แต่เมื่อไปเช็คแล้วพบว่าอยู่ที่เพียง 9 K เท่านั้น
นายรณณรงค์ ระบุอีกว่า ลักษณะแบบนี้จะเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่นั้น ต้องตรวจสอบในเรื่องของการอ้างว่าจะนําดวงของผู้เสียหายไปวางไว้ใต้ฐานของพระแก้วมรกต ซึ่งหากทําได้จริงก็จะไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง แต่หากท้ายที่สุดไม่สามารถทําได้จริงก็จะเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน เพราะมีผู้เสียหายจํานวนมากที่หลงเชื่อ