อัปเดต ผลเลือดเสี่ยขับเบนท์ลีย์ เหยื่อเผยเจรจาครั้งล่าสุด
ผลตรวจเลือด สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ เสี่ยขับเบนท์ลีย์ พบไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลตรวจสอบความเร็ว-ผลตรวจสารเสพติดอยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ ด้านเหยื่อเผยเจรจาครั้งล่าสุด
จากเหตุการณ์กลางดึกของคืนวันที่ 7 มกราคม ต่อเนื่องวันที่ 8 มกราคม 2566 เกิดเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเบนท์ลีย์ สีเทา เลขทะเบียน 7 กค 3822 กรุงเทพมหานคร ของนายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ นายทุนบริษัทใหญ่ 7 แห่งและเป็นนายทุนพรรคการเมืองใหญ่ ขับซิ่งแซงซ้ายพุ่งชนรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร สีดำป้ายแดง ทะเบียน ณ 3830 กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้โดยสารมากันทั้งครอบครัว รวม 6 คนจนเกิดรถหมุนพลิกคว่ำบาดเจ็บทั้งคันรถ บริเวณบนทางด่วน เขตพระขโนง กรุงเทพฯ ซ้ำมีรถดับเพลิงอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดฮารูณ จำนวน 2 ราย ขับพุ่งชนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวม 4 ราย นั้น
วันนี้วันที่ 11 มกราคม มีรายงานว่าผลการตรวจสอบเลือดของผู้ขับขี่รถยนต์เบนท์ลีย์ จากโรงพยาบาลตำรวจ โดยผลการตรวจเลือดดังกล่าว พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่า ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ส่วนเรื่องการตรวจสอบความเร็วขณะนี้ยังอยู่ที่การตรวจสอบของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลเร็ว ๆ นี้ ส่วนการตรวจสอบสารเสพติดขณะนี้ผลการตรวจยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการกำชับเร่งให้ตรวจสอบเรื่องของปริมาณแอลกอฮอล์ จึงทำให้ผลตรวจวัดแอลกอฮอล์ออกมาก่อน
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล จะมีการแถลงรายละเอียดดังกล่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เหยื่อเผยเจรจาครั้งล่าสุด
ทั้งนี้ นายอิทธิพล ประสงทรัพย์ อายุ 35 ปี เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดฮารูณ คนขับรถ อฟปร. เปิดเผยว่า หลังจากการที่คู่กรณีส่งตัวแทนมาเจรจาครั้งล่าสุด ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อมาแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่เกิดเหตุก็ยังไม่มีการขอโทษจากผู้ขับขี่เบนท์ลีย์
ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุ จากคลิปที่ปรากฎว่ามีการล้อมรถแท็กซี่ที่คู่กรณีพร้อมหญิงสาวหน้าตาดีขึ้นรถไปนั้น เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเข้ามาโรงพัก ซึ่งทางคู่กรณีได้โบกแท็กซี่ที่ผ่านจุดเกิดเหตุพอดี ก่อนจะขึ้นไปนั่งบนรถและเคลื่อนออกไปจนพรรคพวกกู้ภัยที่ตามมา ผิดสังเกต ก่อนจะขับรถตามและไปดักไว้ได้ที่บริเวณจุดลงทางด่วน ก่อนจะช่วยกันล้อมรถแท็กซี่ไว้ และให้รถแท็กซี่พาไปที่ สน.ทางด่วน 1 ซึ่งคู่กรณีก็เข้าไปในโรงพัก ส่วนตนก็ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ก่อนจะกลับเข้ามาที่ สน.ทางด่วน 1 เพื่อเซ็นชื่อในใบลงบันทึกประจำวัน โดยขณะนั้นเป็นเวลาระหว่าง 04.00 - 05.00 น. ก็เห็นคู่กรณียังอยู่ที่โรงพัก ก่อนที่ตำรวจจะส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า คู่กรณีรับปากว่าจะชดใช้ค่าเสียหายเป็นรถและอุปกรณ์ดับเพลิงที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการติดต่อมาแต่อย่างใด และทราบว่า ผลการตรวจเลือดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ไม่พบว่าเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้แต่อย่างใด การบาดเจ็บในขณะนี้ยังมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย รวมถึงยังไม่สามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้
ด้านครอบครัวของคนขับรถปาเจโร่ ระบุว่า หลังจากการพบกับตัวแทนคู่กรณีก็ยังไม่มีการพูดคุยหรือได้รับการติดต่อจากอีกฝ่ายแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการเยียวยาค่าเสียหาย ได้มอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการแล้ว ส่วนอาการของผู้บาดเจ็บทั้งหมดก็ยังคงรักษาตัวอยู่ โดยคุณพ่อยังรักษาบาดแผลเนื่องจากเป็นเบาหวานด้วย ส่วนน้องสาวที่บาดเจ็บคอเคล็ดก็ยังใส่ที่ดามไว้ และวันนี้ก็จะพาหลานชายไปตรวจสุขภาพเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามในส่วนของผลตรวจเลือดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ที่มีกระแสข่าวว่า ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่วนตัวยังไม่เห็นเอกสารอย่างเป็นทางการ และไม่ขอแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว เนื่องจากเรื่องของคดีได้มอบหมายให้ทนายความจัดการทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนในครอบครัวเท่านั้น
เลือดผลเมาแล้วขับ หมอนิติเวชชี้คลาดเคลื่อนทุกชั่วโมง
วันที่ 11 มกราคม ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ผู้เชียวชาญนิติเวชศาสตร์ ระบุว่า จากประสบการณ์การทำงานที่เคยตรวจเคสแบบนี้ มามากกว่า 20 ปี ยืนยันว่า การตรวจวัดพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดต้องทำการตรวจหลังจากเกิดเหตุไม่นาน เพราะโดยเฉลี่ย ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของมนุษย์จะลดลง 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในทุกๆ 1 ชั่วโมง หากมีการตรวจล่าช้าก็จะยิ่งทำให้ผลที่ได้คลาดเคลื่อน
แม้ว่า จะมีสูตรคำนวนในการคิดหาค่าปริมาณแอลกอฮอล์ย้อนหลังไปถึงช่วงจุดเกิดเหตุ แต่ในทางกฎหมายจากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่พบว่าจะสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณย้อนหลังไปใช้ในสำนวนคดี เพราะตำรวจต้องใช้ผลที่ได้เป็นเอกสาร ซึ่งผลดังกล่าวคือผลปัจจุบันที่ได้จากการตรวจนะเวลานั้น
ทั้งนี้เคยมีงานวิจัยที่ทำการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของมนุษย์ ที่พบว่า มีการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์หลังจากที่ดื่มกินและมึนเมาไปนาน 5 ชั่วโมง พบว่าสามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ที่ 40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใส่สูตรคำนวนย้อนกลับไปช่วงเวลา 5 ชั่วโมงก่อนหน้าพบว่า ปริมาณแอลกอฮอล์มีมากถึง 122.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นเพียงงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ในประเทศไทย ตนยังไม่เคยเห็นว่ามีการนำ ผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณย้อนหลังไปใช้ในสำนวนคดีแม้แต่คดีเดียว