จี้ มช. ตรวจสอบ ซื้อผลงานวิจัย ชี้ ทำลายชื่อเสียง-ศักดิ์ศรีสถาบัน
ผู้ทรงคุณวุฒิ จี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจสอบ อาจารย์ ซื้อผลงานวิจัย เพราะเป็นความผิดร้ายแรงทำลายชื่อเสียงและศักดิ์ศรีสถาบัน
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES (เชส) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล นักวิชาการชาวไทยเข้าไปซื้องานวิจัยของชาวต่างชาติ ในเว็บไซต์ที่เปิดซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นบาท เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง และบางส่วนก็พบว่ามีการนำมายื่นขอรางวัล หรือเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยด้วย
หนึ่งในนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ เดิมทีในปี 2562 อาจารย์รายนี้มีงานวิจัยแค่ 1 ชิ้น จากนั้นปี 2563 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และในปี 2564 มีเพิ่มถึง 90 ชิ้น โดยการไปซื้อชื่อเป็นผู้แต่งลำดับที่ 1 เสียค่าใช้จ่าย 900 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 บาท) แต่อาจารย์สามารถนำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัยได้ถึง 120,000 บาท
แม้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะออกแถลงการณ์ ชี้แจงในเรื่องดังกล่าว ลงวันที่ 9 มกราคม 2566 ระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาล และคุณธรรมทางวิชาการต่อไป
ศาตราจารย์ เฉลิมพล แซมเพชร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการตรวจผลงานวิจัยมาจำนวนมาก มองว่า การทำวิจัยหรือผลงานวิชาการนั้น ต้องลงมือทำจริงและต้องทำอย่างซื่อสัตย์ด้วยตัวเอง ซึ่งการซื้องานวิจัย ถือเป็นการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการอย่างร้ายแรง เป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างมากและไม่สามารถยอมรับได้ในสังคมวิชาการและการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ที่จะไปถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงและเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ไม่เช่นนั้นจะไปเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้และสั่งสอนผู้อื่นได้อย่างไร
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง มีผลกระทบโดยตรง จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบอย่างแท้จริง และเชื่อว่า หากตรวจสอบอย่างละเอียด คาดว่า มีอาจารย์ หลายคนที่กระทำในรูปแบบนี้ เพราะหากยังไม่มีการตรวจสอบ จะมีผลกระทบกับมหาวิทยาลัยเอง เพราะมหาวิทยาลัยมีการจัดอันดับ โดย วัดจากผลงานของอาจารย์ ในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งหากมีผลงานจากการซื้อมา แม้มหาลัยจะมีระดับที่สูงขึ้น แต่คุณภาพจะไม่เกิดขึ้นตามมา ในระบบการศึกษา ก็จะส่งผลกระทบมาถึง ตัวนักศึกษาเอง
เพราะฉะนั้น การซื้อผลงานวิจัยถือเป็นความผิดร้ายแรง และในอดีตที่ผ่าน มาเคยตรวจพบการคัดลอกงานวิจัย ซึ่งถือเป็นความผิดคล้ายๆกัน การผิดวินัยร้ายแรงในลักษณะนี้ ตามกฏระเบียบของมหาวิทยาลัย จะไม่ให้ มีการขอตำแหน่งทางวิชาการ ในระยะเวลา 5 ปี ส่วนการซื้องานวิจัยที่พึ่งเกิดขึ้น ต้องอยู่ในดุลพินิจ ของทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างในต่อไป เพราะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อระบบการศึกษา