อธิการ มข. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานวิจัยทั้งหมด

อธิการ มข. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบงานวิจัยทั้งหมด

อธิการบดีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลงานการวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่า 1,400 งานวิจัย นักวิจัยต้องมีจริยธรรม เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพ ชี้การซื้อขายงานวิจัยถือเป็นการทำผิดร้ายแรง

จากกรณีนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ออกมาแฉวงการนักวิชาการไทยว่า มีการซื้อขายงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ โดยนักวิจัยจะอ่านงานวิจัยในเว็บขาย แล้วเลือกได้ว่าจะเป็นผู้วิจัยหลัก หรือผู้วิจัยร่วม ซึ่งแต่ละลำดับมีราคาแตกต่างกันไป จากนั้นกดซื้อ และชำระเงิน งานวิจัยชิ้นนั้นก็จะส่งไปตีพิมพ์ พอจ่ายเงินก็จะเป็นผลงานวิชาการของนักวิจัยได้เลย โดยพบว่ามีชื่อนักวิจัยไทยไปซื้องานวิจัยหลายสิบชิ้น โดยสามารถตั้งข้อสังเกตงานวิจัยที่มีการซื้อขายกันได้ว่า งานวิจัยหนึ่งเรื่องผู้วิจัยไม่รู้จักกัน บางเรื่องผู้วิจัยหลักและร่วมมาจากคนละประเทศ นักวิจัยคนเดียวแต่วิจัยหลากหลายประเด็น ทั้งศาสนา การศึกษา การเงิน เกษตร แต่ไม่เคยมีการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยนั้น

ล่าสุด (12 ม.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวการซื้อขายงานวิจัยแล้ว ได้สั่งการให้บัณฑิตวิทยาลัย และฝ่ายวิจัย ตรวจสอบผลงานของนักวิชาการ ที่มีลักษณะการทำงานข้ามศาสตร์ นักวิจัยที่มีผลงานมากผิดปกติ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
 

“ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงานวิจัยกว่า 1,400 เรื่อง หลังจากทราบข่าวเรื่องการซื้อขายงานวิจัย จึงเร่งให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะถือว่าเป็นงานที่หนักพอสมควร สำหรับประเด็นนี้แต่ละสถาบัน แต่ละมหาวิทยาลัยมีกลไกตั้งแต่การเริ่มทำงานวิจัย มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ในมนุษย์ ในสัตว์ทดลอง รวมทั้งแหล่งทุนที่ให้ทุนวิจัย ที่จะมีระบบการตรวจสอบ การตีพิมพ์ผลงานจะมีคณะกรรมการบรรณาธิการ ซึ่งวารสารส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพนั้นจะต้องมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจสอบอยู่แล้ว สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีวารสารบางประเภทที่ไม่มีขั้นตอนที่รัดกุม จึงมีผู้ที่หาผลประโยชน์นำมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ก็คิดว่าเป็นส่วนน้อยแต่ก็สร้างความเสียหาย ทำให้งานวิจัยนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้วงการวิชาการมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย กล่าว
 

และหากตรวจสอบพบว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซื้อขายงานวิชาการ จะถือว่าเป็นการทำผิดด้านการวิจัยอย่างร้ายแรง เป็นการไม่สุจริตทางผลงานวิชาการ ซึ่งจะมีแนวทาง มีกลไก และระเบียบ จะส่งผลต่อการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยในที่สุด