ร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คืนสู่ทะเบียน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่มื่อปี2551ได้ยกเลิกส่วนที่11การถอนทะเบียนบริษัทร้าง และเพิ่มหมวด 6 การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทร้าง มาตราที่เพิ่มใหม่มาตรา1273/1-1273/47
ตามมาตรา 1273/1 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว โดยทางปฏิบัตินายทะเบียนจะพิจารณาจากการไม่ได้ส่งงบการเงินติดต่อกัน 3 ปี เมื่อนายทะเบียนดำเนินตามขั้นตอนแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริว่ายังประกอบกิจการอยู่
นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทนั้นออกจากทะเบียน ซึ่งจะสิ้นสภาพนิติบุคคลนับแต่วันที่ถูกขีดชื่อออกหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ร้องขอให้กลับคืนสู่ทะเบียน
ตามมาตรา 1273/4 ห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรม จากการถูกขีดชื่อ เพราะยังประกอบกิจการอยู่
หรือมีความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการประการหนึ่งประการใดที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ให้สั่งให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ได้ แต่ต้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันถูกขีดชื่อ
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ที่ผ่านมีคำร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คืนสู่ทะเบียน สู่การพิจารณาของศาลฎีกา ที่น่าจะใช้เป็นอุทาหรณ์ในการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ เช่น
- ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2552 วินิจฉัยว่า
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (4) ที่บัญญัติ กรณีที่บุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความ คงหมายเฉพาะผู้คัดค้านที่จะคัดค้านได้เท่านั้น
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัท ก. คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการฟ้องบังคับชำระหนี้กับบริษัทดังกล่าว แทนบรรดาผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ
ประเด็นแห่งคดีมีอยู่เพียงว่า มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กลับจดชื่อบริษัทดังกล่าวคืนเข้าสู่ทะเบียนหรือไม่
ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิการเช่าอาคาร ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดี จึงไม่มีสิทธิร้องคัดค้านเข้ามาในคดี จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
- เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550 วินิจฉัยว่า บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้
จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทได้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
- เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559 วินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย
เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย
จึงต้องการให้ลูกหนี้ ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรม
เพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย
เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว
แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนตามกฎหมายเก่าอายุความให้ร้องภายในสิบปีนับอย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10100/2559 วินิจฉัยว่าแม้เดิมบริษัท ท. จะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ก็ตาม
แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นเวลาภายหลังจากมาตรา 1273/4 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่คดีนี้
ซึ่งมาตรา 1273/4 วรรคสอง กำหนดว่าการร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน อันเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ร้องซึ่งเคยมีอยู่แต่เดิมก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ
การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การนับกำหนดระยะเวลาร้องขอให้บริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง
จึงให้เริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 หาใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียน
เมื่อนับแต่วันที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง มีผลใช้บังคับจนถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้
หมายเหตุ ปัจจุบันปัญหาเรื่องนับอายุความของบริษัทร้างตามกฎหมายเก่าหมดไปแล้ว เพราะกฎหมายขีดชื่อห้างหุ้นส่วน บริษัทร้างออกจากทะเบียนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้มาเกินสิบปีแล้ว.