เร่งฉีดล้างฝุ่นทั่วเมืองเชียงใหม่ หลังค่า PM 2.5 พุ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
คุณภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่ หลายจุดการเป็นพื้นที่แจ้งเตือน เป็นเขตสีส้มและสีแดงจากพิษฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เทศบาลนครเชียงใหม่ เร่งฉีดพ่นละอองน้ำ และล้างถนนลดฝุ่นควันทั่วเมือง
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “ลดฝุ่นเพื่อคนที่คุณรัก” ภายใต้โครงการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมี นางนุสรา ยันตรโกวิท ปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ รองนายกเทศบาลนครเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลนครเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ข่วงประตูท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยวันนี้ ได้มีการปล่อยแถวรถฉีดพ่นลองละอองน้ำ และรถทำความสะอาดกวาดล้างถนน กระจายไปตามจุดต่างๆ ของตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อฉีดล้างฝุ่นและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่
นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ แนวทางหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เกินค่ามาตรฐาน นอกจากการเฝ้าระวังการเผาในที่โล่งแล้ว การล้างถนนนเพื่อลดปริมาณฝุ่นในอากาศก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นบนถนน สร้างความชุ่มชื้นให้กับอากาศ และทำให้ถนนสะอาด พร้อมกับได้ประสานกับเจ้าของกิจการที่มีอาการสูง จำนวน 17 แห่ง ในการขอความร่วมมือพ่นละอองน้ำรอบอาคารหรือบนอาคารสูง เพื่อช่วยดักจับฝุ่นควันในอากาศ
จากการตรวจสอบข้อมูลของแอป AirVisual ตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลก พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ อยู่อันดับ 3 ของโลก สำหรับจุดตรวจวัดค่า PM2.5 ของแอปพลิเคชั่น Air4Thai กรมควบคุมมลพิษพบว่า ในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่วันนี้ ที่ สถานีตำบลช้างเผือก วัดได้ 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตำบลศรีภูมิ 86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ตำบลสุเทพ 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่รอบนอก ที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม วัดได้ 160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตำบลหางดง อำเภอฮอด วัดได้ 249 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงสุดอยู่ที่สถานี้ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว วัดได้ 297 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ด้านข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เชียงใหม่ รายงานจุดความร้อน (Hotspot)ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดเชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 107 จุด