วิกฤติ! ค่า "ฝุ่น PM 2.5" โคราชพุ่งอีก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พบจุดความร้อนเพียบ
เริ่มวิกฤติ! ค่า "ฝุ่น PM 2.5" โคราชพุ่งสูงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พบจุดความร้อนในเขต สปก. พื้นเกษตร และป่าอนุรักษ์หลายจุด สิ่งแวดล้อมจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการรับมือ
วันนี้ (9 มีนาคม 2566) ดัชนีคุณภาพอากาศของ จ.นครราชสีมา จากการข้อมูลในแอปพลิเคชั่น Air4Thai รายงานพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานอยู่หลายพื้นที่ เช่น ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI พบเข้มข้นของมลพิษทางอากาศโดยรอบและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
AQI วัดได้ 195 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งพุ่งสูงขึ้นอีกจากเมื่อวานวัด AQI ได้ 144 เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจของประชาชน ในขณะที่ค่า ฝุ่น PM 2.5 ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เมื่อวานตรวจวัดได้ 68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เพิ่มสูงขึ้นอีก ตรวจวัดได้ 88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งฝุ่นควันพิษจากการคมนาคม การลักลอบเผาซากพืชผลทางการเกษตร กิจกรรมการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และอื่นๆ แต่การตรวจวัดจุดความร้อน Hotspot จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS และ MODIS พบจุดความร้อนกระจายในหลายพื้นที่ โดยที่ จ.นครราชสีมา จากรายงานการตรวจจับจุดความร้อนรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมระบบ MODIS ทั้งดาวเทียม Terra และ Aqua ล่าสุดวานนี้ (8 มีนาคม 2566) พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตร 1 จุด ที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบบุรี จ.นครราชสีมา
ในขณะที่ข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ของระบบ VIIRS ตรวจพบจุดความร้อน หรือ Hotspot จำนวนมาก ถึง 44 จุด โดยส่วนใหญ่ตรวจพบในพื้นที่ สปก. , พื้นที่การเกษตรที่ปลูกข้าวโพด อ้อย พืชไร่หมุนเวียน นาข้าว และพื้นที่เกษตรอื่นๆ และตรวจพบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ , ป่าสงวนแห่งชาติ ,ในชุมชน และอื่นๆด้วย
โดยพบจุดความร้อนที่ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา , ครบุรี, เสิงสาง , โชคชัย , ด่านขุนทด , โนนไทย , โนนสูง ,ปักธงชัย , สูงเนิน ,สีคิ้ว , ปากช่อง , หนองบุญมาก , แก้งสนามนาง และ อ.วังน้ำเขียว จึงทำให้ ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง จนมีผลกะทบต่อสุขภาพ ซึ่งประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานควรใส่หน้ากากฯหรือใช้อุปกรณ์ป้องกัน
ทั้งนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้เร่งเดินแผนเฉพาะกิจแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง ตามที่กรมควบคุมมลพิษให้นโยบายไว้ โดยโฟกัสไป 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่า ดำเนิน 7 มาตรการเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วม โดย
1.เร่งรัดการสื่อสารประชาสัมพันธ์ประชาชน และแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
2.ยกระดับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร 4. 4.ติดตามผล-ประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อเนื่อง 5.ลดจุดความร้อน ควบคุมไฟป่าทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์รุนแรงและอันตรายของไฟป่า
6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และ 7.ให้ทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ มีส่วนร่วมวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง
ข่าว ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ จ.นครราชสีมา