รุกพัฒนาสวนยางทั่วปท. 20 ล้านไร่ สู่มาตรฐานสากลรับกระแสรักษ์โลก

รุกพัฒนาสวนยางทั่วปท. 20 ล้านไร่ สู่มาตรฐานสากลรับกระแสรักษ์โลก

กยท. เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานสากลการทำสวนยางพาราตามกระแสรักษ์โลก ยืนยันสวนยางทั้วประเทศ 20 ล้านไร่ ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 14061 การันตีภายในปี 2571 ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ เผยเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่มีศักยภาพเหนือเพื่อนบ้านในการพัฒนาก้าวสู่ตลาดยางพรีเมี่ยม ไร้คู่แข่ง ขายได้ในราคาสูงและมีตลาดรองรับที่แน่นอน

 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย ว่า ในปี 2566นี้ กยท.จะเร่งพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย   ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี  โดยสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 20 ล้านไร่ จะต้องเป็นสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานของประเทศไทย มอก. 14061เพื่อรองรับตลาดยางพาราโลก ที่ได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา โดยจะมีตรวจสอบแหล่งที่มาแบบย้อนกลับ  

 “กระแสรักษ์โลก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อสินค้าของประเทศผู้นำเข้า  ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนาสวนยางพาราให้ได้มาตรฐาน  ซึ่งจะเป็นโอกาสทองเกษตรกรของที่จะสามารถขายยางที่มาจากสวนยางพาราที่ผ่านมาตรฐาน  ได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป ในเบื้องต้นไม่น่าต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท  นอกจากนี้ยังมีจะตลาดรับซื้อที่แน่นอนและมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการจะถูกบังคับโดยกฎหมายของประเทศผู้นำเข้าว่า จะต้องเป็นยางหรือผลิตภัณฑ์จากยางที่มาจากสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานเท่านั้น” นายณกรณ์กล่าว 

 ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า  ขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลายรายได้ติดต่อเจรจากับ กยท. เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)  ในการจัดหายางที่มาจากสวนยางพาราที่ได้มาตรฐาน  ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดยางพาราของไทย รองรับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กยท.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตร กรชาวสวนยางปรับปรุงพัฒนาสวนยางพาราให้ผ่านมาตรฐาน  โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ภายในปี 2571  สวนยาง พาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 10 ล้านไร่ จะต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 14061ที่เหลือภายใน 20 ปี สวนยางพาราของไทยทั้งหมดจะเป็นสวนยางที่ได้มาตรฐาน

รุกพัฒนาสวนยางทั่วปท. 20 ล้านไร่ สู่มาตรฐานสากลรับกระแสรักษ์โลก


 
 สำหรับมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 นั้น ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล   ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว  ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ   โ ดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่  ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนสากล    ไม่ว่าจะเป็น   Forest Stewardship Council (FSC)  หรือ  Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) 

 “การพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราให้ได้มาตรฐานดังกล่าวนั้น  เกษตรกรจะต้องเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา อาจจะยุ่งยากบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อทำได้แล้วก็จะเป็นเรื่องปกติในการทำสวนยางพารา และที่สำคัญจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตจะลดลงในระยะยาว นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสทองของเกษตรกรที่จะขายยางได้ราคาที่ดี มีตลาดซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมรองรับที่แน่นอน รวมทั้งคู่แข่งยังมีน้อย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาสวนยางให้ได้มาตรฐาน และยังไม่มีหน่วยงานที่รับรองอีกด้วย  ในขณะที่ประเทศไทยมีพร้อมในทุกๆด้าน และ กยท.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำในตอนท้าย