สั่งช่วยด่วน! เหตุน้ำทะลักเข้าเรือบรรทุกน้ำมัน เตรียมรับเหตุน้ำมันรั่วไหล
นายกฯ สั่งช่วยด่วน เหตุน้ำทะลักเรือบรรทุกน้ำมันกลางอ่าวไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับเหตุน้ำมันรั่วไหล ขณะที่ ทร. จัดกำลังเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือแล้ว
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงกรณี เหตุเรือกักเก็บปิโตรเลียม เบญจมาศ 2 ซึ่งเป็นเรือเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ มีน้ำมันดิบในระวาง จำนวน 400,000 บาร์เรล ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เกิดอุบัติเหตุน้ำทะเลเข้าตัวเรือ ขณะทำการปิดผนึกท่อทางดูดน้ำทะเลด้วยลูกอุดลม และถอดวาล์วเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ บริเวณห้องเครื่องจักรใหญ่ใต้แนวน้ำ แต่ลูกอุดลมเกิดระเบิด จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา จุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณแบริ่ง 171 ระยะ 129 ไมล์ จากปลายแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ
กรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำ
ทั้งนี้ ส่วนของกองทัพเรือ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ รอง ผอ.ศรชล. ได้สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 1 และ ศรชล.ภาค 1 จัดกำลังให้การสนับสนุนในทันที ซึ่งขณะนี้ ชุดปฏิบัติการทั้งของกองทัพเรือ ศรชล. และเจ้าที่จากบริษัทฯ ได้เดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุแล้ว และอยู่ในระหว่างปฏิบัติงาน ในการสำรวจเพื่อวางแผนในการ ปิดผนึกช่องทางเข้าของน้ำ ที่ทะลักเข้าตัวเรือ รวมถึงการกู้ร่างผู้เสียชีวิต
ซึ่งสถานภาพของเรือปัจจุบัน ยังคงปลอดภัย สภาพคลื่นลม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน แต่เนื่องจากน้ำทะเลที่ทะลัก ท่วมห้องเครื่องจักร ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าภายในตัวเรือ ส่งผลให้ระบบอุ่นน้ำมันดิบ ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้มีผลกระทบ ต่อการประมาณสถานการณ์ของการรั่วไหล
พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมรับมือ หากมีการรั่วไหลของน้ำมัน ขณะนี้กองทัพเรือ โดย ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เตรียมแผนการปฏิบัติการไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยบูรณาการความร่วมมือ และการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ของ ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ , กรมเจ้าท่า , กรมประมง , กรมศุลกากร , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , กองบังคับการตำรวจน้ำ , กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนบริษัทเอกชน และหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ
โดยจะปฏิบัติตามข้อสั่งการ ของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินการด้วยความรัดกุม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชน และสิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่ง