ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.กยศ. คงดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ค่าปรับผิดนัด 0.5% ต่อปี
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ "พ.ร.บ.กยศ." ฉบับปรับปรุงแก้ไข" คงดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ค่าปรับผิดนัด 0.5% ต่อปีมีผลบังคับใช้ นับแต่วันถัดจาการประกาศลง"ราชกิจจานุเบกษา"
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้
โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้มีกลไกการชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ อันจะทำให้กองทุนมีความมั่นคงและสามารถให้โอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษา ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ ”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “นักเรียนหรือนักศึกษา ” และ “สถานศึกษา” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“นักเรียนหรือนักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษา หรือผู้ซึ่งได้รับการตอบรับ ให้เข้าศึกษาในสถานศึกษาแล้ว และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งมีหลักฐานว่าจะเข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ในสถานศึกษาด้วย
“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นของรัฐ โรงเรียนของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และให้หมายความรวมถึงบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งจัดให้มีการศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับ ทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ “มาตรา ๖/๑ กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) ขาดแคลนทุนทรัพย์
(๒) ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความจ าเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
(๓) ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
(๔) เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ
(๕) ลักษณะอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม ในกรณีตาม (๓) คณะกรรมการจะกำหนดให้เป็นทุนการศึกษาแทนการให้เงินกู้ยืม เพื่อการศึกษาก็ได้ แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ชัดเจนและใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยจะกำหนดให้ผู้ได้รับทุนต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานตามเวลาที่กำหนดด้วยหรือไม่ก็ได้
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ"พ.ร.บ.กยศ."ฉบับนี้ อยู่ที่ มาตรา 18 และ 44 เกี่ยวกับการคิดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมกองทุนกยศ.โดยบัญญัติให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่ไม่เกินร้อยละ 0.5% ซึ่งก่อนหน้านี้ มีความพยายามของส.ส.ในสภา เสนอร่าง พ.ร.บ.กยศ. ในลักษณะไม่คิดดอกเบี้ยและไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระแต่ในที่สุดวุฒิสภาได้ปรับปรุงแก้ไข และมีการประกาศใช้ ในวันพรุ่งนี้ ( 20 มี.ค.66)
สำหรับเหตุผล- ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา อันเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้บังคับ อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่อำนวยให้การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ภายใต้บริบท การศึกษาเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีระบบการให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชา ขาดแคลนที่ต้องได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ทำงานเชิงรุก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลแก่นักเรียนหรือนักศึกษาก่อนเลือกสาขาวิชาที่จะกู้ยืมเงินเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพแห่งอนาคต รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงกำหนดกลไกให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถชำระเงินคืนกองทุนตามความสามารถ ในการหารายได้และสร้างวินัยในการชำระเงินคืนกองทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่กองทุน จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : พระราชบัญญัติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖