อธิบดีกรอ. เผย ‘ซีเซียม-137’ ถูกหลอมถลุงเป็นฝุ่นแดงแล้ว
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผย "ซีเซียม-137" ถูกหลอมถลุงเป็นฝุ่นแดงแล้ว ที่โรงงานในปราจีนบุรี คาดส่งต่อไปโรงงานรีไซเคิล
จากรณีที่ท่อเก็บสารกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" (Sesium-137) หายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นเวลากว่า 9 วัน และถูกค้นพบอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.2566 ) ในเวลาต่อมา นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กเป็น วัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" และทาง จ.ปราจีนบุรี จึงได้ประกาศปิดโรงงานและกันพื้นที่ไว้เพื่อความปลอดภัยแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (20 มี.ค.2566) เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า เมื่อเวลา 22.00 น.วันที่ 19 มี.ค.2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยทางโทรศัพท์กับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ว่า วันนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ปภ.กรมการปกครอง ได้ออกตรวจปฎิบัติงานโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
โดยทีมได้เข้าตรวจสอบ บริษัท … (โรงถลุงเหล็ก) ในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้เข้าทำการตรวจสอบ 2 รอบ รอบแรกเข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็กแต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137
รอบสองนำเครื่องมือเข้าตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฎพบสารกัมมันตภาพรังสี "ซีเซียม-137" แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนโรงถลุงเหล็กอื่น ๆ ยังไม่เจอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับการถลุงเศษเหล็ก มี 2 กระบวนการ คือ 1.ใช้เตาไฟฟ้า 2.ใช้เตาแม่เหล็กเหนี่ยวนำ ซึ่งกรณีใช้เตาไฟฟ้าถลุงจะได้เป็นฝุ่นแดงออกมาจากกระบวนการถลุงเหล็ก ส่วนฝุ่นแดงที่พบใน บริษัท … เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดไว้ที่โรงถลุงเหล็ก ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังไม่ได้สั่งปิดโรงถลุงเหล็กดังกล่าว ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายว่า สำหรับ ‘ฝุ่นแดง’ คือเมื่อนำเศษเหล็กไปถลุงจะได้น้ำเหล็กออกมา ซึ่งเหล็กจุดหลอมเหลวจะสูงมาก แต่สังกะสี และ "ซีเซียม-137" ที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสี จุดเดือดจะต่ำกว่าเหล็กมันจึงระเหิดกลายเป็นฝุ่นแดง คาดการณ์ว่าเหล็กสารกัมมันตภาพรังสี "ซีเซียม-137" น่าจะถูกถลุงหมดแล้ว เพราะทีมที่ไปตรวจไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก
ลักษณะของการถลุงด้วยเตาไฟฟ้าซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นเศษเหล็ก เหล็กส่วนใหญ่จะเคลือบสังกะสี ดังนั้นสังกะสี ซีเซียม ก็จะระเหิดอยู่กับฝุ่นแดง ขั้นตอนจากนี้สิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการ คือต้องตรวจสอบว่าเมื่อทำการถลุงเศษเหล็กกลายเป็นฝุ่นแดงแล้ว ฝุ่นแดงถูกส่งไปที่ไหนต่อ
"ฝุ่นแดง" เป็นของเสียจากโรงถลุงเหล็ก ซึ่งอาจถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศ หรืออาจส่ง ออกไปยังต่างประเทศเพื่อรีไซเคิลเพื่อเอาสังกะสีที่อยู่ในฝุ่นแดงมาใช้ประโยชน์อีก จากรายงานบริษัทดังกล่าวรับ "ซีเซียม-137" มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนรับมาจากที่ไหน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะติดตามต่อว่า บริษัท … ส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนบ้าง ทราบว่าได้ส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 จำนวน 12 ตัน ในวันนี้ (20 มี.ค.) จะส่งเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ตรวจวัดสารกัมมันตรังสี ลงพื้นที่ไปทำการตรวจสอบที่โรงงานรีไซเคิลดังกล่าวว่ามีฝุ่นแดงหลุดไปถึงที่นั้นหรือไม่
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อถลุงเป็นน้ำเหล็กแล้วมันจะกระจายไปหมด เข้าใจว่าฝุ่นแดงคงปนเปื้อนด้วยซีเซียม ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีการขนฝุ่นเหล็กออกจากโรงถลุงเหล็กไปที่อื่นหรือไม่ ส่วนอันตรายจากฝุ่นแดงและสารกัมมันตภาพรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าไม่สัมผัสตลอดเวลาคงจะไม่ได้รับผลอะไร
อย่างไรก็ตาม เหล็กที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ไม่ควรหลุดรอดออกมา ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดของโรงงานหรือไม่ อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อหมดอายุแล้ว
1.เก็บไว้จนกระทั่งสลายตัวด้วยธรรมชาติเอง
2.ส่งกลับผู้ผลิต ซึ่งสารกัมมันตรังสี จะสลายตัวครึ่งชีวิตของมัน กรณี "ซีเซียม-137" นี้มีอายุ 30 ปี
โดยปกติ "ซีเซียม-137" ประเทศเราผลิตเองไม่ได้ต้องนำเข้ามา กฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลสารกัมมันตภาพรังสี เป็นกฎหมายเฉพาะ มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ดูแล ตั้งแต่การนำเข้ามา ขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ นำไปใช้ที่ไหน เมื่อเลิกใช้แล้วกากที่เหลือจะนำไปกำจัดอย่างไร
เรื่องนี้คงต้องหารือกัน ไม่ให้มีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี ในส่วนกฎหมายของโรงงานเราดูแลความปลอดภัยทั้งหมดก็จริง แต่เรื่องของกัมมันตภาพรังสี มีกฎหมายเฉพาะ กฎหมายเขียนชัด ถ้าเข้าข่ายเป็นกากกัมมันตภาพรังสี ให้เป็นไปตามระเบียบ พ.ร.บ. ปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งต้องเข้ามาควบคุม