ทส. ชูหลักสูตร ปธส. รุ่นที่ 10 เสริมศักยภาพผู้บริหารยุคใหม่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชูหลักสูตร ปธส. รุ่นที่ 10 เสริมศักยภาพผู้บริหารยุคใหม่ ร่วมเป็นต้นแบบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (20 มีนาคม 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 10 (ปธส. 10) เพื่อเสริมศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน โดยได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางของประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ร่วมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารฯ เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของนักบริหารระดับสูงให้เป็นผู้บริหารยุคใหม่ที่พร้อมเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงบริหารจัดการแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาเวทีการประชุมในระดับโลกและระดับภูมิภาค ได้หยิบยกปัญหาโลกร้อนมาเป็นประเด็นสำคัญ รวมถึงประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง มีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index : CRI) เป็นลำดับที่ 9 ของโลก
โดยจะถูกประเมินตัวชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณมี 4 ตัว ได้แก่ (1) จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ (2) จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน (3) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของความเท่าเทียมกันของอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP) และ (4) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดจากร้อยละของจีดีพี ทำให้ประเทศไทยเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC)
โดยมีเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง 30 - 40% จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 การเพิ่มเติมรายงานข้อมูล การปล่อยและการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ และเพิ่มเติมผลสำเร็จในภาคพลังงาน คมนาคมขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ น้ำเสียจากอุตสาหกรรม และการจัดการของเสียชุมชน ซึ่งภาคธุรกิจเองต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ ลงทุนน้อยได้มาก จัดทำกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมภาครัฐและเอกชน มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาใช้ เช่น Green hydrogen, Direct Air Capture (DAC) เป็นต้น
รวมถึงการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้าน คือ 1) ด้านนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนยังช่วยสร้าง new S-Curve ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
อีกทั้งการพัฒนาองค์กรตามแนวคิด ESG (Environment Social and Governance) ให้ครอบคลุมทุกมิติ 2) ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก โครงการ Thai Rice NAMA ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการลงทุน ร่วมกับ BOI จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ เปิดตัวเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต 5) ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมปลูกป่าในพื้นที่รัฐ เช่น โครงการ T-VER ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานการจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งสามารถนำไปใช้รายงาน ใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล การจัดงานอีเว้นท์ และจากการผลิตผลิตภัณฑ์ได้ และ 6) ด้านกฎหมายที่จะเร่งผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้ง 8 หมวด ได้แก่ หมวดทั่วไป หมวดคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หมวดแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หมวดข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หมวดการลดก๊าซเรือนกระจก หมวดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมวดมาตรการส่งเสริมการดำเนินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหมวดบทกำหนดโทษ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาประเทศไทยเป็นไปในทิศทางตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ จำเป็นที่องค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของจริยธรรมสิ่งแวดล้อม รวมถึงประยุกต์ใช้แนวคิด ESG มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.) มาแล้ว 9 รุ่น โดยครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 10 ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และเอกชน รวม 72 คน
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้สำเร็จการศึกษาอบรมให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีระยะเวลาการศึกษาอบรม รวม 182 ชั่วโมง
แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาที่ 1 หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำหรับผู้บริหาร กลุ่มวิชาที่ 2 กระแสโลกและแนวโน้มด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาที่ 3 เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาที่ 4 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มวิชาที่ 5 การเสริมสร้างประสบการณ์เชิงประจักษ์ ซึ่งการดำเนินงานด้านวิชาการนี้ ได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์อย่างสูงด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม มาช่วยดูแลเนื้อหาด้านวิชาการและบริหารจัดการหลักสูตร