Kick off รณรงค์ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์
Kick off รณรงค์ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์ ครอบครัวปศุสัตว์เคลื่อนที่ เปิดให้บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
วันที่ 24 มี.ค.66 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานรณรงค์ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์ (ครอบครัวปศุสัตว์เคลื่อนที่)
โดยมี นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อาคารสัมมนาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งงานดังกล่าว กรมปศุสัตว์จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน
โดยเฉพาะโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคลัมปีสกิน โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย การปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลฟาร์ม การเลี้ยงสัตว์ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) การดูแลสุขภาพสัตว์ขั้นต้นเมื่อสัตว์มีอาการเจ็บป่วย การเลือกชนิดและสายพันธุ์ปศุสัตว์ที่ทนทานต่อโรคและแมลงในพื้นที่ การให้อาหารสัตว์ที่ถูกต้องตามโภชนศาสตร์สัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคที่ดี รวมถึงการนำผลิตผลจากการเลี้ยงสัตว์ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างถูกสุขอนามัย สร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพสัตว์ เกษตรกร และผู้บริโภค โดยในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จากทุกอำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาเข้ารับบริการไม่น้อยกว่า 750 ราย และมีเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงาน โดยมาจากหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 7
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง มีการดูแลและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านสุขภาพ การบำบัดโรค การบำรุงพันธุ์ การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ โรคระบาดสัตว์ การปศุสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งงานรณรงค์ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์ (ครอบครัวปศุสัตว์เคลื่อนที่) ที่จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันนี้เป็นที่แรก และจะมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีที่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กรมปศุสัตว์จึงจัดกิจกรรมผ่าตัดทำหมัน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยตั้งเป้าให้พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศในฤดูการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
"ขอขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่ได้จัดงานรณรงค์ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์ฯ ในวันนี้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการในเรื่องปศุสัตว์เคลื่อนที่ไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้น หากปล่อยให้เกิดการแพร่กระจาย จะต้องใช้เวลา 7 - 10 ปี สถานการณ์ถึงจะกลับมาปกติ เราจึงต้องมีการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ให้บริการประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วย 15 ด้าน อาทิ นโยบายตลาดนำการผลิต การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ Start Up การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เป็นต้น กรมปศุสัตว์ได้มีการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานการผลิตสัตว์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ โดยคำนึงถึงการป้องกันโรคระบาดสัตว์ และเสริมสร้างสุขภาพปศุสัตว์เป็นสำคัญ
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การให้บริการในการพัฒนาสุขภาพสัตว์ เช่น การผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การเยี่ยมชมฐานเรียนรู้และนิทรรศการ เช่น นิทรรศการด้านพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ นิทรรศการด้านอาหารสัตว์ นิทรรศการเทคโนโลยีด้านการผสมเทียมสัตว์ นิทรรศการครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืน การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เป็นต้น