คนไทยซื่อสัตย์แค่ไหน? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

คนไทยซื่อสัตย์แค่ไหน? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ท่านผู้อ่านที่ได้รับฟังข่าวอยู่ทุกวัน คงพบว่าข่าวคอร์รัปชั่นหรือข่าวโกงโดยอาศัยอำนาจหน้าที่  มีไม่เว้นแต่ละวันและยังเกี่ยวโยงไปแทบทุกสถาบัน ตั้งแต่ทหาร ตำรวจ

จนกระทั่งสถาบันที่เป็นป้อมปราการ คุณธรรมแหล่งสุดท้ายคือสถาบันศาสนาและสถาบันการศึกษาก็ไม่เว้น ยิ่งได้รับฟังข่าวของ
คุณชูวิทย์  กมลวิศิษฎ์ ที่ออกมาแฉรายวันถึงธุรกิจจีนสีเทาและการเข้าไปมีเอี่ยวของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ก็ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกวังเวงใจว่า เราจะไปต่อกันได้แบบที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนได้จริงหรือ  

ในปัจจุบันประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศชั้นนำด้านการคอร์รัปชันคืออยู่ในลำดับที่ 101 จากทั้งหมด180 ประเทศ (CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX

หลายคนอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าคนไทยโกงเก่ง โกงอย่างพิสดารมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังคำของฟรังซัว อังรี ตุรแปง ที่ว่า….

ไม่มีประเทศใดในโลกที่คนทุจริตจะมีวิธีพลิกแพลงมากเท่ากับในประเทศสยาม มีคนชำนาญการในการทำให้คดียุ่ง สามารถทำให้เรื่องร้ายที่สุดกลับไปในทางดีได้และเขาจะเรียกร้องค่าตอบแทนอย่างสูงทีเดียว.. (กรมศิลปากร 2522)

แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ บ้านเมืองของเราก็เจริญขึ้นมากแล้ว ทำไมเราถึงพบการคอร์รัปชันมากขึ้นทุกวันๆ อะไรเป็นที่มาของการทุจริต?

ตามทฤษฎีทางจิตวิทยา Will hypothesis ว่าด้วยความซื่อสัตย์นั้น มองว่ามนุษย์ที่แสดงพฤติกรรมซื่อสัตย์ เพราะสามารถควบคุมตนเองได้สามารถยับยั้งความเห็นแก่ตัวและความโลภได้

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือทฤษฎีที่มองจากมุมคุณงามความดี (Grace Hypothesis) ว่า ความซื่อสัตย์ไม่ได้เกิดจากความพยายาม แต่เป็นอุปนิสัยที่ฝังลึกในจิตใจของคนหรือเรียกว่าจิตใต้สำนึกซึ่งทำให้คนซื่อสัตย์โดยไม่ต้องพยายาม

ส่วนทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า คนเราจะโกงก็ต่อเมื่อต้นทุนของการโกงต่ำกว่าผลประโยชน์ที่จะได้จากการโกง หรือคนที่สุจริตก็เพราะว่าเขาเห็นว่าต้นทุนจากการสุจริตนั้นต่ำกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการสุจริต

สภาพการณ์ในตอนนี้ก็คือ เราทำให้การโกงได้ผลประโยชน์สูง แต่ต้นทุนต่ำเพราะไม่มีการตรวจสอบหรือเพราะมีอิทธิพลคุ้มครอง ซึ่งทำให้คนไทยสงสัยว่าอิทธิพลนี้จะใหญ่สักแค่ไหน

ผลการวิจัยของไทยพบว่า ความสุจริตนั้นขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ คุณค่าและพฤติกรรมความซื่อสัตย์จะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงวัย

ประสบการณ์ในอดีตก็มีผลต่อพฤติกรรมการทุจริตและจะเกิดการเลียนแบบกันหากเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน ทำให้บุคคลนั้นไม่รู้สึกผิดจากการทุจริต (อ้างอิงจากณัฐพล สีวลีพันธ์ 2566)

เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนคิดถึงคำกล่าวของตัวเอกในภาพยนตร์ของคนรุ่นใหม่ชื่อฉลาดเกมส์โกงว่า “ถ้าเราไม่โกงโลกก็จะโกงเรา”

ดังนั้น ข่าวคราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากหน่วยงานต้นสังกัดไม่มีการนำไปตรวจสอบและลงโทษผู้ทุจริตอย่างจริงจัง ในวันข้างหน้าคนรุ่นใหม่ก็จะเห็นว่าการโกงเป็นธรรมดาของวิถีชีวิตคนไทยแล้วตอนนั้นสังคมก็จะวุ่นวายและตกต่ำไปกว่านี้มาก 

การศึกษาเรื่องหนึ่งของแผนงานคนไทย 4.0 พบว่า คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษามีแนวโน้มโกงมากกว่าคนรุ่นโตกว่าที่เป็นข้าราชการ (ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตรและคณะ 2565)

สาเหตุอาจจะเป็นเพราะเยาวชนเห็นตัวอย่างผู้ใหญ่โกงแล้วได้ดี แต่ไม่เห็นตัวอย่างของการโกงแล้วถูกลงโทษ ในขณะผู้ที่เป็นข้าราชการนั้นจะมีความเข้าใจในระเบียบต่างๆ ที่กำกับและควบคุมอยู่ และถ้าเส้นไม่ใหญ่จริงก็อาจจะไม่กล้าโกง

การศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ผู้ชายมีโอกาสที่จะทุจริตมากกว่าผู้หญิง ส่วนในประเทศไทยนั้นยังพบอีกว่าคนไทยคิดว่าเราอาจจะทุจริตได้ถ้าผลประโยชน์นั้นเราไม่ใช่เป็นคนได้หรือผลประโยชน์นั้นตกกับคนที่ลำบากกว่าเรา

ส่วนการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์พบว่า คอร์รัปชันจะทำให้จีดีพีลดลง (ธร ปิติดล 2553)

โดยทั่วไปแล้วความซื่อสัตย์ในความคิดของคนไทย มีนิยามที่ค่อนข้างที่จะกว้างขวางกว่าสากล ครอบคลุมตั้งแต่ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อชุมชน ต่อสังคม และต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราเรียกว่าความจงรักภักดี

การแสดงออกของความซื่อสัตย์ยังรวมถึงพฤติกรรมการโกหก การลักขโมย การโกง การผิดสัญญาและการล่อลวง ความซื่อสัตย์ของคนไทยมีพลวัตและมุมมองที่หลากหลายขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน

ผู้เขียนสรุปได้ว่า ความซื่อสัตย์ของคนไทยนั้นขึ้นอยู่กับว่าซื่อสัตย์กับใคร กับคนบางคนเราก็จะไม่โกหก แต่กับคนบางคนเราก็จะไม่พูดความจริงก็ได้

กล่าวอีกในหนึ่งว่าคนไทยเป็นคนซื่อสัตย์แบบอะลุ่มอล่วยไม่ได้มีบรรทัดฐานเดียว มีความซื่อสัตย์พอประมาณแต่ไม่เต็มร้อย เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น การที่เราจะให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ของเราซื่อสัตย์ต่อประชาชนอาจจะเป็นเรื่องยากเพราะประชาชนไม่เคยอยู่ในสายตาของข้าราชการ และนักการเมือง (ยกเว้นเมื่อการเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา)

ความไม่มีบรรทัดฐาน ตลอดจนระบบเส้นสาย ทำให้ระบบราชการของเราเข้าถึงโดยคนทุจริตได้ง่าย

นายพลตำรวจจีนที่มาประจำการในประเทศไทยเพื่อไล่ตามจับนักธุรกิจสีเทาของจีนกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในรายการที่เผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์สถานีหนึ่งว่า

ที่กลุ่มธุรกิจจีนสีเทาเบ่งบานในประเทศไทยได้ก็เพราะส่วนราชการของไทยเข้าถึงได้ง่ายทุกระดับ ช่วยให้ทำมาหากินได้ง่าย ฟังดูแล้วก็น่าที่จะรู้สึกสลดหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

ท่านผู้อ่านคงจะทราบดีว่าประเทศไทยของเราถดถอยมาเป็นลำดับ ทำในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความสามารถในการแข่งขัน

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ การคอร์รัปชันเป็นสนิมที่กัดกร่อนระบบเศรษฐกิจจนทำให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ผูกขาด สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร สวัสดิการและสาธารณูปโภค และทำให้การผลิตและการค้ามีต้นทุนแฝงที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนออกไปเลือกตั้งเพื่อคัดสรรคนดีมีคุณภาพมาเป็นผู้แทน

ส่วนคนที่ให้สัญญาอย่างนั้นอย่างนี้จะให้ค่าจ้างและรายได้แบบที่เรียกได้ว่าขี่พายุทะลุฟ้าเราก็ต้องตั้งคำถามกับผู้หาเสียงว่าพรรคจะทำได้อย่างไร

ส่วนท่าน สว. ทั้งหลายซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีคุณวุฒิและวัยวุฒิก็คงต้องรับฟังเสียงประชาชน ต้องช่วยกันปลดแอกประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที!

ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 และเชิญผู้ที่สนใจไปรับเอกสารแจกฟรีได้ที่งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51” วันที่ 30 มี.ค. - 9 เม.ย. 2566 บูธ J 27 ฮอลล์ 5 – 7 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ