กทม. จับมือ สปสช. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาล ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง

กทม. จับมือ สปสช. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาล ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง

ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.9 แสนราย สามารถรับบริการใกล้บ้าน ได้แล้ว หลัง กทม. จับมือ สปสช. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาล

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “การลงทะเบียนประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข.เขต 13 กทม.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

รศ.ทวิดา กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญต่อนโยบายดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ และได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากกรณีปี 2565 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญากับสถานพยาบาลเอกชน จากปัญหาการเบิกจ่ายที่คลาดเคลื่อน ทำให้มีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบรวมกว่า 6 แสนราย ที่ผ่านมากรุงเทพนหานครได้ร่วมกับ สปสช. ในการจัดหาหน่วยบริการรองรับ แต่ด้วยจำนวนหน่วยบริการที่จำกัด ทำให้ยังคงมีผู้ที่เป็นสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีหน่วยบริการรองรับประมาณ 1.9 แสนคน

รศ.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้ กรุงเทพมหานครและ สปสช. ได้ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางดำเนินการแก้ปัญหา ไม่ให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนแนวคิดการจัดสรรประชากรสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำ "โมเดล 5" ที่เปิดให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ทุกแห่ง ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี ใกล้บ้าน โดยมี "คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านใกล้ใจ" ร่วมให้บริการครบวงจร ทั้งด้านการรักษาพยาบาล บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รูปแบบของการจัดเครือข่ายบริการโมเดล 5 นี้ ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทางระยะไกล รวมทั้งลดความแออัดในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดเครือข่ายหน่วยบริการรับส่งต่อในระดับทุติยภูมิ ตามพื้นที่เขตโชนของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) เพื่อสร้างความครอบคลุมการดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ อย่างครบวงจร

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. มีจำนวนมากขึ้น สามารถรองรับประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำได้แล้ว โดยการลงทะเบียนในครั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการในรูปแบบหรือโมเดล 5 ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข 56 แห่ง เป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 113 แห่ง และเครือข่ายโรงพยาบาลรับส่งต่อทั่วทั้ง กทม. 
 

ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำที่เหลืออยู่จำนวน 195,158 ราย ได้มีสถานพยาบาลประจำตัว สปสช.จึงดำเนินการลงทะเบียนและจัดสรรหน่วยบริการแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยระบบจะพิจารณาจากข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือที่พักอาศัย ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีหน่วยบริการหลายแห่ง ระบบจะจัดสรรให้หน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด จำนวน 8,000 - 10,000 คน/หน่วยบริการ ซึ่งผู้มีสิทธิที่พักอาศัยในบ้านหรือครัวเรือนเดียวกันก็จะให้ลงทะเบียนไปที่หน่วยบริการเดียวกัน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิและหน่วยบริการได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1330

ด้าน นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การจัดสรรหน่วยบริการประจำแก่ผู้มีสถานะสิทธิว่าง ไม่ใช่แค่การใส่ชื่อผู้มีสิทธิเข้าไปอยู่กับหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น แต่ระบบจะพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านเพื่อให้หน่วยบริการที่เลือกให้นั้นเหมาะกับผู้มีสิทธิมากที่สุด และให้สอดคล้องกับระบบบริการแบบใหม่ที่ในแต่ละพื้นที่จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิหลายแห่งทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย (โมเดล 5) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ อปสข. ปี 2566-2567 ซึ่งเน้น 3 เรื่องหลัก คือ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในระบบบริการตามโมเดล 5 นี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. จะเป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขตในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน เช่นการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง รวมทั้งการลงทะเบียนประชาชนต่างจังหวัดที่อาศัยใน กทม. ให้มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน