ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ จริงหรือ?

ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ จริงหรือ?

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ เป็นข้อมูลเท็จ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า 

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีการโพสต์โดยระบุว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาแต่อย่างใด ซึ่งฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มในช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ อุณหภูมิ สูงสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะสูงกว่าปีที่แล้ว (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2565 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส)
 

ทั้งนี้ ปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะใกล้เคียงค่าปกติ บริเวณประเทศไทยตอนบน ในระยะครึ่งแรกของเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาใน หลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ยังคงแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีกำลังอ่อนและไม่ต่อเนื่อง จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40 – 43 องศาเซลเซียส และจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง เนื่องจากจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ประกอบกับจะมีตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพา ความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ส่วนช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศ ร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่ในบางช่วง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่หรือลมใต้พัดปกคลุม จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน
 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสน และตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติมสามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์ โทรสายด่วน 1182

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศ ร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่ในบางช่วง กับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่หรือลมใต้พัดปกคลุม จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม