สธ. เผย 17 จังหวัดภาคเหนือ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 สูงถึงสัปดาห์หน้า
สธ. เผย 17 จังหวัด ภาคเหนือ PM 2.5 ยังสูงถึงสัปดาห์หน้า สั่งเฝ้าระวังเข้มประกาศธงแดง 4 เวลา ผู้ป่วยจากมลพิษเพิ่มขึ้น แต่อาการเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของประเทศไทย ว่า วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา พบ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ สูงสุดที่ภาคเหนือ 48-234 มคก./ลบ.ม.
จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ
- เชียงราย 279 จุด เชียงใหม่ 215 จุด
- น่าน 115 จุด ส่วนภาคกลางและตะวันตก 42-93 มคก./ลบ.ม.
- กทม.และปริมณฑล 39-69 มคก./ลบ.ม.
พื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 51 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดต่อกันเกิน 3 วัน 8 จังหวัด ได้แก่
- น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ)
- เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม)
- เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ)
- แพร่ (อ.เมือง)
- พะเยา (อ.เมือง)
- ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้)
- ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ)
- แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย)
คาดการณ์ว่าช่วง 7 วันข้างหน้า (18-24 เม.ย.) กทม.และปริมณฑล คุณภาพอากาศ มีแนวโน้มปานกลางถึงดี เนื่องจาก สภาพอากาศ เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศสูงขึ้น ประกอบกับกำลังลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วน 17 จังหวัดภาคเหนือ ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชียงรายและน่าน แต่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังวันที่ 19 เมษายน 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากความเร็วลมที่ระดับชั้นบนมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้การระบายฝุ่นของพื้นที่ดีขึ้น ประกอบกับช่วงวันที่ 21-24 เมษายน อาจมีฝนตกได้ในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง
หากค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 150 มคก./ลบ.ม. พื้นที่จะปฏิบัติตามแนวทางธงเตือนภัยสีแดง โดยผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งเตือน 4 ครั้ง/วัน เวลา 07.00 น. 12.00 น. 15.00 น. และ 18.00 น. ให้ รพ.สต. รายงานสถานการณ์ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพประชาชน รักษาเบื้องต้น ให้บริการคลินิกมลพิษออนไลน์ ประสานให้งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กิจกรรมวิ่ง และประสานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา งดกิจกรรมกลางแจ้งหรืองดการเรียนการสอนหากจำเป็น ส่วนทีม 3 หมอ อสม. ให้ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเสี่ยงและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว โดยส่วนกลางได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ไปยังเขตสุขภาพที่ 1 ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 แล้วจำนวน 122,000 ชิ้น และเขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 50,000 ชิ้น
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังโรคจากมลพิษทางอากาศ พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 2,472,492 ราย สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 184,465 ราย เป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจมากสุด รองลงมา กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
แนวโน้มพบกลุ่มอาการระบบตา และหูคอจมูก เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงพบกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอาการเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นอาการเล็กน้อย 3 อันดับแรก คือ
- แสบจมูก 34.23%
- แสบคอ 24.32%
- แสบตา 20.72%
สำหรับการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากการสัมผัสฝุ่น ช่วงระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2566 พบว่า
- ภาพรวมปฏิบัติตัวได้ดีเพิ่มขึ้นเป็น 97%
- การสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 100%
- ไม่เผาขยะ กระดาษ จุดธูป เพิ่มขึ้นเป็น 94.6%
- ปิดประตูหน้าต่างเพิ่มขึ้นเป็น 99.1%
- งดออกกำลังกายกลางแจ้งเพิ่มขึ้นเป็น 93.7%
- การลดระยะเวลาออกนอกบ้านลดลงเหลือ 87.4%
- การตรวจเช็กคุณภาพอากาศลดลงเหลือ 76.6%
ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ยังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ระยะปกติ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง 5 โรค ส่งเสริมสนับสนุนการจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่เสี่ยง เปิดคลินิกมลพิษและคลินิกมลพิษออนไลน์ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
แก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ