กขค.กับย่างก้าวที่มั่นคง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 โดยได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลากึ่งทศวรรษแล้ว กล่าวได้ว่า ต่อจากนี้จะเป็นการก้าวสู่ยุคที่ 3 ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)
ยุคแรก 7 ท่านเป็นยุคบุกเบิก องค์ประกอบส่วนใหญ่จึงเป็น กขค. ที่มาจากข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ จนก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ก็ได้เสริมทัพด้วย อดีตเลขาเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในยุคปัจจุบันองค์ประกอบของ กขค. ใหม่ 4 ท่านที่เข้ามาแทนที่ กขค. ที่พ้นตามวาระนั้น เป็นผู้ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายถึง 3 ท่าน และด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 1 ท่าน
นับว่าเป็นการเสริมทัพงานด้านการพิจารณาเรื่องร้องเรียน การสืบสวนสอบสวน และการออกกฏ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำกับดูแลงานด้านการแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แท้จริงแล้ว กขค. มีหน้าที่ในการสร้างกติกาในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการด้านการแข่งขันทางการค้าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจของประเทศ
ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า การกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของ กขค. จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ล้วนแต่จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม
นอกจากนี้ กขค. ยังคำนึงถึงการระงับ ยับยั้ง รวมถึงการป้องกันพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดการลด จำกัดหรือทำลายการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ภายใต้กติกาเดียวกัน ซึ่งที่สุดแล้วประโยชน์ทั้งปวงย่อมตกแก่ผู้บริโภค เพราะจะมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ให้เลือกบริโภคอย่างหลากหลาย ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
เป็นที่ทราบกันดีว่า การแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันมีความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล กลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
ประกอบกับในตลาดเองก็มีผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งต่างก็มีโอกาสในการเข้าแข่งขันในตลาดได้ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในหลากหลายมิติ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายราย โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่าจำต้องยอมรับความเสียเปรียบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า
และนี่อาจถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจและความท้าทายสำคัญของ กขค. ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้มีความรอบคอบ รอบด้าน และเป็นธรรม และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบธุรกิจได้ในทุกระดับ
ในส่วนของสำนักงาน กขค. เอง ก็ถือได้ว่า ก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่มาจากการคัดสรรโดย กขค. เอง ก็อาจเปรียบเสมือนเป็น “แม่ทัพ” ในการนำทัพหรือนำเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามความเห็นชอบของ กขค. เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังไว้
สำนักงาน กขค. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งด้านการติดตามกำกับดูแล การพัฒนาและการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าต่าง ๆ
โดยในส่วนของการติดตามหรือกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้าต่าง ๆ นั้น สำนักงาน กขค. จะดำเนินการสำเร็จได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้ข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาคดีของ กขค. ด้วย
ยิ่งกว่านั้นสำนักงาน กขค. ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือ การเผยแพร่ผลคำวินิจฉัยของคดีต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ กับผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายสามารถใช้ประโยชน์จาก พรบ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้อย่างเต็มที่.