กทม. ขึ้นบัญชี 7 ภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรม ก่อนสูญหาย

กทม. ขึ้นบัญชี 7 ภูมิปัญญามรดกทางวัฒนธรรม  ก่อนสูญหาย

กทม. ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 7 ภูมิปัญญา เร่งสืบค้นให้ครบทุกสาขา และขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด ก่อนสูญหาย

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ว่า คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร เริ่มมาตั้งแต่ปี 61 เรากำหนดขึ้นบัญชีวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร 1 ปี ประมาณ 6 รายการ สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นปีที่ 6 ซึ่งจะพิเศษกว่าปีอื่น คือปีนี้เราจะขึ้นบัญชีทั้งหมด 7 ภูมิปัญญา ประกอบด้วย 1.สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ขึ้นบัญชี ชุดไทยพระราชนิยม 2.สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ขึ้นบัญชี 2 ภูมิปัญญา ได้แก่ เครื่องทองลงหิน ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร และเครื่องประดับลงยา ราชาวดี เขตวังทองหลาง  3.สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ขึ้นบัญชี เซปักตะกร้อ 4.สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ขึ้นบัญชี ตำนานพระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตร 5.สาขาศิลปะการแสดง ขึ้นบัญชี 2 ภูมิปัญญา ได้แก่ บ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย เขตหลักสี่ และหุ่นสายเสมา เขตหลักสี่ 
 

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเชื่อมั่นว่ายังมีรายการที่เราจะต้องขึ้นบัญชีอีกจำนวนมาก ในปีหน้าได้มอบหมายสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ขึ้นทะเบียนได้มากที่สุด อาจหาแนวร่วม อาทิ เอกชน มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนต่างๆ ร่วมกันสืบค้นภูมิปัญญา วัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครไว้ให้ครบทุกสาขา และขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด ไม่ให้หลงเหลือ เนื่องจากภายภาคหน้าอาจสูญหายไปได้ กรุงเทพมหานครจะเก็บรักษาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไว้ก่อนที่จะสูญหายไป