อ.อ๊อด ลุยตรวจหาสารไซยาไนด์ มัดตัว 'แอม' จากหลักฐาน 400 รายการ

อ.อ๊อด ลุยตรวจหาสารไซยาไนด์  มัดตัว 'แอม' จากหลักฐาน 400 รายการ

ตร.ภาค 7 ส่งหลักฐาน 400 รายการ ส่งถึง รศ.ดร.วีรชัย ตรวจสอบหาสารไซยาไนด์ มัดตัว "แอม ไซยาไนด์" ชี้คดีมีความซับซ้อน การหาพยานหลักฐานทางเคมีจะมีประโยชน์ เอาผิดผู้ต้องหาในชั้นศาล

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมตรวจสอบหาสารไซยาไนด์ ในพยานวัตถุของผู้ต้องหา คดีฆาตกรรมวางยา เพื่อนำไปประกอบสำนวนมัดตัวผู้ต้องหา โดย อ.วีรชัย เปิดเผยว่า เตรียมเข้าร่วมช่วยตรวจหลักฐานกับตำรวจพิสูจน์หลักฐานภูธรภาค 7 ในคดีผู้ต้องหาใช้สารไซยาไนด์ วางยาฆาตกรรม น.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย เท้าแชร์ อายุ 33 ปี โดยนอกจากพยานหลักฐานจากนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องตรวจสอบหาหลักฐานทางเคมีเพิ่มเติมจากวัตถุต่าง ๆ ภายในที่พักอาศัย รวมถึงรถยนต์รวม 4 จุด ที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องหา และผู้เสียชีวิตรายล่าสุด ที่ทางกองพิสูจน์หลักฐานได้เก็บรวบรวมตัวอย่าง เกือบ 400 ตัวอย่าง โดยในวันนี้ (27 เม.ย.) ทาง สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และ สภ.ดอนตูม จ.นครปฐม ส่งหลักฐานเข้ามาให้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจสอบแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะแล้วเสร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ผบ.ตร."สั่งตั้งศูนย์รับแจ้งคดีแอม "ไซยาไนด์" มอบ "บิ๊กโจ๊ก" ดูแลภาพรวม

อัปเดต! คดี 'แอม ไซยาไนด์' สามีเหยื่อรอดชีวิต จ่อพาภรรยาแจ้งความฐาน 'พยายามฆ่า'

สำหรับ สารไซยาไนด์ที่ใช้ก่อเหตุเป็นชนิด โพแทสเซียมไซยาไนด์ ลักษณะคล้ายเกลือ หากผู้ต้องหาได้สัมผัสหรือมีการผสมสารภายในสถานที่ต่าง ๆ ก็สามารถตรวจสอบได้จากเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ที่มีความละเอียดในการตรวจสอบสูงเข้าไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปประกอบสำนวนในคดี

อ.วีรชัย เผยอีกว่า สำหรับคดีนี้ค่อยข้างมีความซับซ้อน เพราะฉะนั้นการหาพยานหลักฐานทางเคมีจะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก หากพบว่ามีสารไซยาไนด์ของใช้ส่วนตัวของผู้ต้องหา ก็จะสามารถนำไปประกอบสำนวนคดี เอาผิดในผู้ต้องหาได้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล
 

ส่วนการตรวจสารไซยาไนด์ ไม่สามารถพบในร่างกายของผู้ที่รอดชีวิตได้ เนื่องจากร่างกายจะสามารถขับสารพิษออกจากร่างกายได้ แต่สามารถตรวจเจอได้จากผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบสารไซยาไนด์ในร่างกายของผู้เสียชีวิตเพียง 2 คน สำหรับสารไซยาไนด์ เป็นสารต้องห้ามส่วนใหญ่สำหรับโรงงานหลอมเหล็ก และใช้ในสถานศึกษา ส่วนประเด็นที่พบว่าพี่สาวของผู้ต้องหาเป็นเภสัชนั้น จริงแล้ว ไซยาไนด์ ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทยา จึงไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องสืบหาพยานหลักฐานต่อไป