กยท. เริ่มแล้วใช้ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมตลาดกลางยางเชียงรายแห่งแรก
การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เริ่มแล้ว ยกระดับตลาดยางพาราสู่ Digital Platform จัดกิจกรรม Go live ระบบ Thai Rubber Trade ประเดิมครั้งแรกที่ตลาดกลางยางพาราเชียงราย มุ่งสร้างความเข้าใจ นำไปสร้างโอกาสทางการตลาด ก่อนขยายต่อที่ระยอง, บุรีรัมย์ และหนองคาย ภายใน พ.ค.นี้
วันที่ 3 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. การยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย ได้จัดกิจกรรม Go live ระบบ Thai Rubber Trade ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform (Thai Rubber Trade) ขึ้น โดยได้เชิญสมาชิกตลาดเครือข่าย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการที่ทำการซื้อขายผ่านระบบ มาร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform พร้อมทำความเข้าใจระบบ ณ ห้องประชุมสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพาราให้สามารถ เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถคัดกรองคุณภาพยางพาราที่เข้ามาขายกับตลาดกลางยางพาราของ กยท. ก่อนส่งมอบแก่ลูกค้า
“ระบบดังกล่าว มีการพัฒนาระบบผ่าน Mobile Platform และ Web Application นำมาใช้ลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยาง ทั้งหมดแบบ Real Time ประกอบด้วยสินค้ายางแต่ละชนิดและแหล่งรวบรวมยาง ซึ่งผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางตามความต้องการได้จากทุกตลาดทั่วประเทศ ทั้งตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 ตลาด โดยระบบนี้ได้นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ และมีระบบตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Contract”นางสาวอธิวีณ์ กล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กยท. ได้เริ่ม Go live นำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ครั้งแรกในการซื้อขายยางของสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย และมีแผนนำระบบไปใช้กับตลาดกลางยางพารา กยท. อีก 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง, บุรีรัมย์ และหนองคาย ภายในเดือนพฤษภาคม และครบทั้ง 8 ตลาดทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2566
“ระบบ Thai Rubber Trade เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดยางพาราของ กยท. ที่ช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง อีกทั้งเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มากขึ้น สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้ ตามกฎระเบียบของ EU ที่เรียกว่า EUDR ( EU Deforestation-free Regulation) ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ยางที่แปรรูปจากผลผลิตที่ตรวจสอบได้ว่า มาจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และไม่รุกล้ำป่าสงวน เนื่องจากการซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางของ กยท. จะต้องลงทะเบียนสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยาง กยท. สามารถเชื่อมโยงทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกร ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตได้”นางสาวอธิวีณ์ กล่าวในที่สุด