ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศ กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียน 'ตึกสุริยานุวัตร' เป็นโบราณสถาน
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดิน "ตึกสุริยานุวัตร" สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็น"โบราณสถาน"
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
"กรมศิลปากร" จึงประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถาน ตึกสุริยานุวัตร (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่โบราณสถาน 3 งาน 83 ตารางวา
รายละเอียดดังปรากฏตามแผนผังแนบท้ายประกาศนี้
ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566
พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร
สำหรับ "บ้านสุริยานุวัตร” สร้างขึ้นในราวปี 2448 เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดี ในการปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ ความเพียร และซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอดของ "พระยาสุริยานุวัตร” ออกแบบก่อสร้างโดยนายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน คนเดียวกับที่ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
ประวัติ บ้านสุริยานุวัตร มีประวัติความเป็นมาที่กล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตำนานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอาคารที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ "สภาพัฒน์" ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ความสำคัญมิได้อยู่เพียงแค่นั้น จากการค้นคว้าถึงความเป็นมา ได้ค้นพบถึงความบังเอิญอย่างน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งของบ้านสุริยานุวัตรกับภารกิจหลักของ สศช. นั่นคือ บ้านหลังนี้ในอดีตเคยเป็นบ้านพักอาศัยของ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร ซึ่งมีประวัติการทำงานและผลงานที่น่ายกย่อง และยังเป็น "นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” ผู้เขียน "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
ขอบคุณภาพและข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ