สรุปต้นตอวงจร 'ส่วยทางหลวง' ปัญหาทุจริต 20,000 ล้านบาทต่อปี
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สรุปต้นตอ 'ส่วยทางหลวง' ปัญหาทุจริต 20,000 ล้านบาทต่อปี ที่เจ้าตัวออกมาแฉขบวนการสติ๊กเกอร์ส่วย รถบรรทุก นำไปสู่การเด้งผู้การทางหลวง เผยจุดเริ่มต้นปัญหาทำให้ตำรวจน้ำดีท้อใจ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กสรุปต้นตอ 'ส่วยทางหลวง' ปัญหาทุจริต 20,000 ล้านบาทต่อปี ที่เจ้าตัวออกมาแฉขบวนการสติ๊กเกอร์ส่วย รถบรรทุก นำไปสู่การเด้งผู้การทางหลวง ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ เผยจุดเริ่มต้นปัญหา ทำให้ตำรวจน้ำดีท้อใจ เพราะ ถ้าเผลอไปเรียกตรวจก็อาจจะเจอผู้บังคับบัญชาหรือมาเฟียขาใหญ่โทรมาเบ่ง ข่มขู่
ต้นตอ ส่วยทางหลวง วงจรส่วยก็ต้องปราบกฎหมายก็ต้องทบทวน
ปัญหาเรื่อง ส่วยทางหลวง ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่มีมีมาหลายสิบปีแล้ว ที่สำคัญ คือ มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่นของส่วยทางหลวง นั้นมีมูลค่าสูงในระดับหมื่นล้านบาท และกระทบกับประชาชนทั้งทั้งประเทศ พอผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย ก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น แถมพอเจอกับการแข่งขันที่ต้องมาตัดราคากันเอง ก็ยิ่งทำให้กำไรบางมากๆ จนในท้ายที่สุด ก็ต้องผลักต้นทุนที่ต้องจ่ายส่วย ไปยังค่าขนส่ง พอค่าขนส่งเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ก็ต้องปรับราคา
ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ก็ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหาย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยวดยาน แถมยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาถนน ถ้าประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ ก็จะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น
ปัญหา-จุดเริ่มต้น
ถ้าถามถึงต้นเหตุของ ปัญหาส่วยทางหลวง ก็ต้องบอกว่า จุดเริ่มต้นอยู่ที่ ข้าราชการของกรมทางหลวง บางคน ตำรวจท้องที่ และตำรวจทางหลวงบางนาย อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ไปรังควาญผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็น การตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเสียเวลาทำมาหากิน จากวันหนึ่งแทนที่จะวิ่งได้ 2-3 เที่ยว ก็อาจจะเหลือแค่ 1 เที่ยว เท่านั้น
พฤติกรรมรังควาญแบบนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดขาใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นโต้โผเอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปเคลียร์กับข้าราชการบางคน ตำรวจบางนาย แล้วมาผลิตสติ๊กเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบกิจการขนส่งรายอื่นๆ พอเจ้าหน้าที่เห็นสติ๊กเกอร์ ก็เป็นอันรู้กัน รถบรรทุกเหล่านี้เถ้าแก่ส่งส่วยเรียบร้อยแล้ว ตราชั่งก็ไม่ต้องชั่ง บรรทุกหนักแค่ไหน ก็ผ่านฉลุย ตำรวจเจอก็ได้แต่เลิ่กลั่ก พยักเพยิด แล้วก็ปล่อยผ่านไป หลังๆ นี่ถึงกับกล้าเอารถบรรทุกไปใช้ขนของผิดกฎหมาย ขนแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง เชียวนะครับ
ตำรวจที่ดี ก็ได้แต่ท้อใจ ถ้าเผลอไปเรียกตรวจ ก็อาจจะเจอผู้บังคับบัญชา หรือมาเฟียขาใหญ่โทรมาเบ่ง ข่มขู่
สติ๊กเกอร์ แต่ละดวง ก็จะมีมูลค่าที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทาง และจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่นก็มี
ที่บอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ก็เพราะว่า จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์ เดือนละ 3,000-5,000 บาท เดือนหนึ่งก็ตก 900-1,500 ล้านบาท ปีหนึ่งมูลค่าส่วยทางหลวงนี้ ก็อาจจะสูงถึง 20,000 ล้านบาท ก็เป็นได้
ปีๆ หนึ่ง มีเรื่องทุจริตร้องเรียนมาที่ ป.ป.ช. รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ลำพังแค่ ส่วยทางหลวง เรื่องเดียว นี่ปาเข้าไป 20,000 ล้านบาท หรือ 10% เข้าไปแล้วนะครับ เห็นไหมครับว่าเรื่อง ส่วยทางหลวง นี้มันมากมายมหาศาลขนาดไหน
เรื่องส่วยทางหลวง ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหรือเปล่า เพราะคำตอบ คือมีแน่ และมีมาหลายสิบปีแล้ว มีมาตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ยังเป็นผู้กองด้วยซ้ำ
ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคำตอบจากข้าราชการระดับบังคับบัญชา ย่อมไม่ใช่ คำตอบที่บอกว่า "ไม่รู้" หรือการออกมาปฏิเสธแบบแบ๊วๆ ทำไขสือว่า "ไม่มี" ถ้าตอบแบบนี้ นอกจากประชาชนจะหัวเราะเยาะแล้ว ประชาชนยังจะตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า มีส่วนพัวพัน หรือมีเอี่ยวกับส่วย ทางหลวงหรือไม่
และถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ควรต้องขอย้ายตัวเองไปทำงานอื่น ให้คนที่รู้มาทำงานแทนดีกว่าครับ
อีกคำตอบหนึ่ง ที่ประชาชนยอมรับไม่ได้ ก็คือ การตอบว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบแบบแก้เกี้ยว ถ่วงเวลาให้เรื่องเงียบ สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ แล้วก็บอกกับประชาชนว่า "ถ้าใครมีหลักฐานก็ให้แจ้งมา" ถ้าขืนตอบแบบนี้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามกลับว่า “ถ้ารู้อยู่แก่ใจว่า มีขยะอยู่ในบ้านตัวเอง ทำไมถึงไม่ยอมเก็บกวาดเองล่ะ ทำไมต้องรอให้ประชาชน ชี้ว่ากองขยะมันกองอยู่ตรงไหน และประชาชนก็มีสิทธิสงสัยว่าท่านได้ผลประโยชน์จากกองขยะกองนั้น หรือไม่
เรื่องส่วยทางหลวง ผมเชื่อว่าลึกๆ ข้าราชการระดับบังคับบัญชา ก็รู้อยู่แก่ใจ ทุกวันนี้ก็เหมือนขี้รดกางเกง แล้วก็นั่งทับขี้เอาไว้ กลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปหมด ผมบอกตรงๆ ว่า ท่านควรรีบไปเข้าห้องน้ำ แล้วไปล้างก้น แล้วเปลี่ยนกางเกง ไม่ใช่มาบอกว่า “ถ้าใครเห็นขี้ผม ก็ให้บอกผมด้วย เดี๋ยวผมจะได้ไปล้างก้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เด้งผู้การทางหลวง เซ่นปม สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก
- 'คมนาคม' สั่งสอบส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ขีดเส้นรู้ผลภายใน 15 วัน
- ‘ส่วยรถบรรทุก’ ปัญหาเรื้อรังทางหลวงไทยนานหลายสิบปี
การแก้ปัญหา
การแก้ปัญหาส่วยทางหลวง ต้องแก้ไปควบคู่กันทั้ง 3 ด้าน ด้วยกัน ก็คือ
ด้านที่ 1 คือ การปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใด ก็ต้องส่ง ป.ป.ช. เอาเรื่องให้ถึงที่สุด เอาให้ติดคุกติดตารางให้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้กลไกของ ป.ป.ง. ในการยึดทรัพย์ เอาให้สิ้นเนื้อประดาตัว
ด้านที่ 2 คือ การทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งรีดไถ หรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน พร้อมกับกำชับไม่ให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน ใช้กฎหมายไปเป็นเครื่องมือรังควาญ ข่มขู่ ตบทรัพย์ประชาชน ถ้าพบก็มีการดำเนินการทั้งคดีอาญา และทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ปัญหานี้ก็จะหมดไป
อย่างกรณีน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วง ที่แต่เดิมกำหนดไว้อยู่ที่ 52-58 ตัน ที่ คสช. ปรับลดลงมาให้เหลือไม่เกิน 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.57 ก็มีข้อสงสัยว่า เป็นการปรับลดลงมา เพื่อบีบให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายโดยปริยาย และต้องยอมจ่ายส่วย ใช่หรือไม่ เพราะตามหลักการทางวิศวกรรมสากล การป้องกันไม่ให้ถนนชำรุดจากน้ำหนักบรรทุก โดยทั่วไปเขาจะไม่เอาน้ำหนักบรรทุกรวม มากำหนดเป็นเกณฑ์ แต่จะเอาน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อ มาใช้เป็นเกณฑ์แทน เช่น น้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อต้องไม่เกิน 2.5 ตัน เป็นต้น ถ้าน้ำหนักบรรทุกมาก จำนวนล้อที่มาเฉลี่ยรับน้ำหนักก็ควรต้องมากตาม
ซึ่งประเด็นดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโยธา ก็สามารถที่จะทบทวนแก้ไข กฎระเบียบให้มีความสมเหตุสมผล เป็นไปตามหลักวิศวกรรมสากลได้ และถ้าเกณฑ์การรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้รับการปรับปรุง ให้มีความสมเหตุสมผลแล้ว หากพบรถบรรทุกคันใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินการจับกุม ปรับ ดำเนินคดีตามกฎหมายครับ ส่วนถนนหนทางหากยังชำรุดอีก ก็ต้องตรวจสอบต่อว่า การก่อสร้างเป็นไปตามสเป๊คหรือไม่
ด้านที่ 3 คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อความรวดเร็วของกระบวนการควบคุมน้ำหนักของยานพาหนะ ไม่ทำให้ผู้ประกอบกิจการเสียเวลาในการทำมาหากิน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีเจ้าหน้าที่บางคน ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมิอ ใช้ดุลยพินิจส่วนตัวในการเรียกรับผลประโยชน์อีกด้วย
ซึ่งเราสามารถปรับปรุงระบบการชั่งน้ำหนัก ให้เป็นระบบด่านชั่งน้ำหนักในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion System: WIM) ได้
เอาเป็นว่า “ต้นเหตุของปัญหานี้จะเป็นอะไรก็ช่าง แต่ตำรวจจะเอามาเป็นเหตุในการ รีดไถ เก็บส่วย กับประชาชนไม่ได้” เอาว่าเรารับทราบตรงกันนะครับ