ชุมพร 'ไข้เลือดออก' ระบาดหนัก ป่วยแล้ว 305 ราย อายุ 10-14 ปีมากสุด

ชุมพร 'ไข้เลือดออก' ระบาดหนัก ป่วยแล้ว 305 ราย อายุ 10-14 ปีมากสุด

นพ.อนุ ทองแดง นพ.สสจ. ชุมพร รายงานสถานการณ์ "ไข้เลือดออก" ล่าสุด ป่วยแล้ว 305 ราย ติดอันดับ 3 ของภาคใต้ กลุ่มอายุ 10-14 ปีมากสุด

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยถึงสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ของจังหวัดชุมพร ว่า จากข้อมูลงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยจำนวน 305 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนระดับ ประถมศึกษา โดย 3 อันดับแรกคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา 5-9 ปี และ 15-24 ปีตามลำดับ 

อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดันแรกคือ อำเภอเมืองชุมพร รองลงมา อ. ท่าแซะ และ อ. ทุ่งตะโก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยปี 2566 กับปี 2665 ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่าสูงกว่า 4 เท่า อำเภอที่เป็นพื้นที่ระบาดคือเมืองชุมพร ทุ่งตะโก ท่าแซะ และสวี ข้อมูลปัจจุบันจังหวัดชุมพรอยู่อันดับที่ 11 ของประเทศ อันดับที่ 3 ของเขต 11 (ภาคใต้)
 

โดยตามลำดับ คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรงในปีนี้ แนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และจำนวนผู้ป่วยในระดับประเทศสูงเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่าและยังพบการระบาดขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ ภาคกลางและภาคใต้เกือบทุกจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเคลื่อนย้ายของประชากรสูงจึงทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพบผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่อง 

ผู้เสียชีวิตทั้งหมดส่วนใหญ่ไปรักษาที่โรงพยาบาลช้า มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน และติดสุรา การเปลี่ยนแปลงชนิดไวรัสเดงกีโดยพบสัดสวน DENV - 3 เพิ่มมากขึ้นทั้งในผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ผลสำรวจลูกน้ำยุงลายช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ยังพบค่า House index ในชุมชนสูงถึง ร้อยละ 12.19 และค่า House index ในชุมชนสูงถึงร้อยละ 7.34
 

มาตรการเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาด เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและจะระบาดรุนแรงในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยทั่วประเทศมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน -สิงหาคมนี้ จึงขอความร่วมมือทุกจังหวัดเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกโดย ด้านการเฝ้าระวังโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 มีการประชุมศูนย์ฯ ทุกสัปดาห์ 

โดยทีมตระหนักรู้สถานการณ์(SAT) วิเคราะห์สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ร่วมกับข้อมูลสำรวจลูกน้ำยุงลายขี้เป้าตำบลที่มีรายงานผู้ป่วยเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีการระบาดต่อเนื่องเกินกว่า 28 วัน เป็นรายสัปดาห์ เพื่อเร่งรัดติดตามมาตรการควบคุมโรค มีการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภออรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไปยังนายอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกสัปดาห์ เพื่อขอรับการสนับสนุนเร่งรัดมาตรการควบคุมโรคจากท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงให้ อสม.ในพื้นที่เพิ่มความเข้มข้นในการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ให้ครอบคลุมทุกสถานที่ โดยเฉพาะ โรงพยาบาล วัด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก

ด้านการป้องกันการควบคุมโรคนั้นได้มีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค 3-3-1 ประกอบด้วย หลังจากโรงพยาบาลพบผู้ป่วยให้รายงาน โรคภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคกำชับให้ อสม. ลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้านชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที ลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ ASEAN Dengue Day วันที่ 15 มิถุนายน 2566 โดยกำหนดสัปดาห์รณรงค์ ใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศระหว่างวันที่ 12-23 มิถุนายน 2566 โดยใช้กลไกลคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือดำเนินมาตรการควบคุมโรคในสถานที่สำคัญต่างๆ

การวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดสรรชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว (NS1) rapid test) ให้ครอบคลุมสถานบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอระบาดโรคไข้เลือดออกเพื่อให้ทราบผลได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่การรักษา เกณฑ์ที่ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล รวมถึงให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทาโลชั่นกันยุง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากยุงที่กัดผู้ป่วยแล้วนำไปสู่ผู้อื่นได้