กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ : บทเรียนที่เกาะหลีเป๊ะ

กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ : บทเรียนที่เกาะหลีเป๊ะ

เกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร ในทะเลอันดามัน ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ประมาณ 70 กิโลเมตร มีชนชาวพื้นเมืองที่เป็นชาวเล อุลากาโว้ย ตั้งถิ่นฐานอยู่

เกาะหลีเป๊ะ  สภาพธรรมชาติเป็นพื้นราบ ล้อมรอบด้วยน้ำทะเลใสสะอาด มีชายหาดที่สวยงามหลายหาด  มีแนวปะการังสวยงามรอบเกาะ                  

                  กฎหมายที่เป็นปัญหา

                 * เมื่อปี พ.ศ .2517 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา  ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 เรียกว่าพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวีและเกาะอื่นฯในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ  พ.ศ.2517 

บริเวณที่ดินที่กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ครอบคลุมเกาะหลีเป๊ะ ด้วย โดยมีเหตุผล   เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและธรรมชาติบริเวณเกาะเหล่านั้นมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เรียกกันโยทั่วไปว่าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา   

  * ในปี 2535 ได้มีการตรากฎกระทรวง ฉบับที่35 (พ.ศ.2535)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522   กำหนดบริเวณ1 พื้นที่เกาะหลีเป๊ะบริเวณวัดจากแนวชายฝั่งของทะเลของเกาะหลีเป๊ะเข้าไปในแผ่นดิน 50 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งห้ามสร้างอาคารใดๆ

เว้นแต่อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร อาคารแต่ละหลังต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 5 เมตร ห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร มีที่ว่างรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ75 ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร

                      บริเวณ 2  คือพื้นที่ในเกาะหลีเป๊ะเว้นแต่บริเวณ1  ห้ามก่อสร้างอาคารใดฯเส้นแต่ อาคารอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวไม่เกินสองชั้นมีความสูงไม่เกิน 9 เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร และมีที่ว่างรอบอาคารไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้าง

ผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐ   ประกอบกับเกาะหลีเป๊ะ มีความสวยงามของท้องทะเล มีหาดทรายที่สวย  เป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม  จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศไปท่องเที่ยวพักผ่อนเพิ่มขึ้นทุกปี

กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ : บทเรียนที่เกาะหลีเป๊ะ

นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้สนับสนุนแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามกรอบของอาเซียน

โดยร่วมกับประเทศอาเซียนอีกเก้าประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศอาเซียนมาเที่ยวประเทศไทยในจังหวัดสตูลและใกล้เคียงมากขึ้น  ซึ่งจะเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้าพักผ่อนท่องเที่ยวที่เกาะหลีเป๊ะมากขึ้น 

จากสถิติของท่องเที่ยวจังหวักสตูล ช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะผ่านท่าเทียบเรือปากบาราประมาณ 140,000 คน           

 สภาพสังคมและเศรษฐกิจของ เกาะหลีเป๊ะจึง เปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวปีละหลายแสนคน จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง ที่พักและสถานที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวรองรับให้พอเพียง  

จึงมีผู้ประกอบธุรกิจลงทุนก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร รองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น    ณ เดือนมกราคม 2566 มีที่พัก โรงแรม รีสอร์ท บนเกาะหลีเป๊ะ 109 แห่ง เปิดกิจการอยู่ 98 แห่ง ทั้ง 98 แห่งไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงแรม

             ปัญหา  การประกอบกิจการที่พัก โรงแรม รีสอร์ท บนเกาะหลีเปะ จากการลงทุนของเอกชน ที่เป็นกิจการที่ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ของเกาะหลีเป๊ะ และของจังหวัดสตูล ที่เป็นการสร้างรายได้ สร้างงานให้แก่บุคลในท้องที่

ประสบปัญหาสำคัญสองประการจากพระราชกฤษฎีกากำนดเขตอุทยานตะรุเตาที่ตราไว้และกฎกระทรวงควบคุมการก่อสร้างดังกล่าวมาข้างต้นคือ

                   1.  ที่ดินที่ใช้สร้างที่พัก โรงแรม รีสอร์ท ที่ครอบครองอยู่หรือที่ซื้อต่อมา เป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อกำหนดเขตอุทยานตะรุเตาหรือไม่และเป็นการรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือไม่

กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ : บทเรียนที่เกาะหลีเป๊ะ

                  2  ผู้ประกอบการต้องการขออนุญาตก่อสร้าง ขออนุญาตประกอบกิจการโรงแรมให้ถูกต้อตามกฎหมาย เพราะไม่ต้องการเกิดปัญหากับกิจการที่ใช้เงินลงทุนไปมาก 

แต่ถูกจำกัดด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 35 (พ.ศ.2535) ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างอาคารลักษณะที่ใช้เป็นที่พักแรม หรือทำโรงแรมได้ จึงไม่อาจขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมได้

 จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับปัญหาจะมีการบังคับใช้กฎหมายให้รื้อถอนอาคาร ที่รุกล้ำที่อุทยานแห่งชาติและก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามกฎกระทรวงฉบับที่35 ที่ออกใช้บังคับตั้งแต่ปี 2535 เป็นข้อจำกัดที่ไม่เปิดช่องให้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงแรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้  

ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และสภาพการณ์ของเกาะหลีเป๊ะเปลี่ยนไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ที่จำเป็นต้องมีที่พักแรม และร้านอาหารรองรับ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่าพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ ของเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องมีสถานที่พักแรมและร้านอาหารรองรับ

การบังคับใช้พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจกิจการที่พัก โรงแรม รีสอร์ท บนเกาะหลีเป๊ะ  เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จากการท่องเที่ยวแล้ว

กฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ : บทเรียนที่เกาะหลีเป๊ะ

การบังคับใช้กฎหมายที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจ รื้อสิ่งก่อสร้างโดยไม่พิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์  น่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา77 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า

รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า

เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง  และเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 25 มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย

            ความเห็น

               ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกาะหลีเป๊ะดังกล่าว เกิดจากบทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคหนึ่ง   

จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจ ที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ

และยังคงเจตนารมณ์ในการักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนของเกาะหลีเป๊ะด้วยความเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคหนึ่งดังกล่าว

การปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินแก้ไขพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงที่มีปัญหาอาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ