ที่ดินมือเปล่า ครอบครองจริงสำคัญกว่าเอกสาร | สกล หาญสุทธิวารินทร์
คำนิยามตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่สำคัญที่ควรทราบเป็นพื้นฐานคือ “สิทธิในที่ดิน” หมายความว่ากรรมสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงสิทธิครอบครองด้วย
“หนังสือรับรองการทำประโยชน์” หมายความว่า หนังสือรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว
“โฉนดที่ดิน” หมายความว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว
จากคำนิยามดังกล่าว หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่รู้จักชื่อย่อกันดีว่า น.ส.3 นั้น ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่เป็นเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ที่แสดงว่าผู้มีชื่อใน น.ส.3 มีสิทธิครอบคองที่ดินนั้น
การทำนิติกรรมซื้อขาย ที่ดินมือเปล่า
ที่ดินที่ไม่มีโฉนดที่ดิน มีเพียงเอกสารแสดงสิทธิที่ดิน เช่น น.ส. 3 เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง เรียกกันทั่วไปว่า "ที่ดินมือเปล่า” สามารถทำนิติกรรมซื้อขาย ให้เช่า หรือยกให้กันได้ ด้วยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 4 ทวิ และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ข้อ 2
อย่างไรก็ตาม การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินมือเปล่า แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องการส่งมอบการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นองค์ประกอบด้วย คือ หากมีการส่งมอบการครอบครองการซื้อขายก็มีผล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2552 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. โดยมอบให้ อ.ครอบครองแทน แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ ป.ที่ดินฯ มาตรา 9 จะโอนที่ดินมือเปล่าให้แก่กันมิได้ก็ตาม
แต่ที่ดินมือเปล่านั้นเจ้าของมีสิทธิครอบครอง และตาม ป.พ.พ.มาตรา 1378 บัญญัติว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง
มาตรา 1380 วรรคหนึ่ง ก็ได้บัญญัติรับรองด้วยว่า การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาต่อไปว่าจะยึดถือทรัพย์นั้นแทนผู้รับโอน เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นว่า
โจทก์ทั้งสองมิได้มอบหมายให้ อ.ครอบครองแทน โจทก์ทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาจาก อ. โดยการโอนและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1378 และมาตรา 1380 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2553 บิดาโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยไปแล้ว ที่ดินของบิดาโจทก์มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่บิดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาจำเลยแล้ว สิทธิครอบครองจึงตกแก่บิดาจำเลย ซึ่งมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยสมบูรณ์
เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นสิทธิครอบครอง จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2558 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก อ. และ อ.ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และ อ.จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
อันมีผลให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ อ. ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การโอนทรัพย์ให้แก่กันย่อมกระทำได้
โดยการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1378 เมื่อ อ.ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ อันถือเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา
ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ อ.จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ.และจำเลยที่ 1 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิในที่ดินพิพาทไม่
เนื่องจากเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก อ. จึงไม่มีสิทธิดีกว่า อ.ผู้โอน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้
สิทธิครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนก็ทำนิติกรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564 จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใดๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น
แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ผู้ครอบครองที่พิพาทตามความเป็นจริง มีสิทธิดีกว่าผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามเอกสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2564 ที่ดินที่พิพาทมีหลักฐานเป็น น.ส.3 โดย ส.เป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 และมีสิทธิขายและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้
การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 มีชื่อ อ.เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ.มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง
เมื่อ อ.ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้ และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน มิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนตามความเป็นจริง
แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใดๆ ที่ ส.ป.ก.ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม”
แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาท