ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ ตึกสูง กทม. รับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ เร่งให้ความรู้ประชาชน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ ตึกสูง กทม. รับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ เร่งให้ความรู้ประชาชน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นำทีมแถลงหลังเหตุแผ่นดินไหว ย้ำอาคารสูงในพื้นที่ยังสามารถรับมือได้ แต่จะเร่งให้ความรู้ประชาชน เตรียมซักซ้อมรับมือเหตุในอนาคต

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 08.40 น. ของวันนี้ ส่งให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครได้รับความรู้สึกสั่นไหว ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ความรุนแรง 6 ริกเตอร์ ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานคร 500 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่หลายเขตรู้สึกได้ จากข้อมูลการรายงานจากผู้อำนวยการเขต พบว่า

มี 10 เขตที่รู้สึกได้ถึงแผ่นดินไหว คือ

  1. จตุจักร
  2. บางรัก
  3. คลองเตย
  4. ลาดพร้าว
  5. บางเขน
  6. หลักสี่
  7. ห้วยขวาง
  8. บางพลัด
  9. บางขุนเทียน
  10. หนองแขม  

โดยเป็นเขตที่มีอาคารสูง แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับทีมวิจัยหลายมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาการรับมือมานานแล้ว โดยติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่ ชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีหลายปัจจัยที่น่าสนใจ 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ ตึกสูง กทม. รับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ เร่งให้ความรู้ประชาชน

 

กทม.เตรียมแผนติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารสาธารณะให้มากขึ้น 

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเริ่มมีการติดวัดเครื่องมือเพื่อวัดความสั่นสะเทือนของอาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 บนชั้น 36 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ตัวกราฟแสดงให้เห็นว่าตามอัตราเร่งของ Peak Resiversion หน่วยเป็น milli-g (มิลลิจี) โดย g คือ ค่าแรงโน้มถ่วงของโลก บนอาคารธานีนพรัตน์ วัดได้ 3.5 milli-g ซึ่งคนจะรับรู้ความรู้สึกได้ เมื่อค่าความเร่งในแนวราบจากแรงแผ่นดินไหวอยู่ที่ 1 - 2 milli-g ซึ่งในส่วนของชั้น 4 ของอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค่าความเร่งอยู่ที่ 1.5 milli-g 
 

สำหรับความต้านทานแรงแผ่นดินไหว หากเป็นอาคารเก่าที่สร้างก่อนกฎกระทรวงปี 2550 ซึ่งไม่ได้ออกแบบให้ครอบคลุมถึงเรื่องความสามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ จะสามารถต้านทานได้อยู่ที่ 50 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และที่ 150 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง ส่วนอาคารที่ออกแบบให้สามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหวได้ ภายหลังการออกกฎกระทรวงปี 2550 นั้น จะสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 100 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้าง และสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 500 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง

ในการนี้ กรุงเทพมหานครได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น จึงสรุปได้ว่า

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวันนี้อยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจนและทำให้เกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคารแต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ ตึกสูง กทม. รับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ เร่งให้ความรู้ประชาชน

รศ.ดร.ฉัตรพันธุ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินของวสท (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ได้ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่พบความเสียหายเนื่องจากเกิดห่างจากประเทศไทยมาก ซึ่งเดิมเคยเกิดที่จังหวัดเชียงรายในปี 2557 และมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ในครั้งนี้เกิดความรุนแรงในระดับต่ำที่มาก ประชาชนที่อยู่ในตึกสูงอาจจะรู้สึกได้ และเกิดความตระหนก ซึ่งการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ สามารถต้านทานได้ ไม่มีปัญหา วันนี้ถือว่าเป็นการฝึกซ้อม เผชิญเหตุในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นอีกซึ่งยังไม่สามารถทำนายได้ ต้องเตรียมพร้อมอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยมาตรฐานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนด ถือว่ามีรูปแบบและคุณลักษณะที่สูงเพียงพอ

อย่างไรก็ดีอาคารในกรุงเทพฯ มีความหลากหลาย มีทั้งอาคารที่สร้างถูกต้องและอาคารที่สร้างเองซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่า โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างมีความอ่อนแอ เปิดโล่ง มีเสาไม่กี่ต้น และด้านบนมีสิ่งก่อสร้าง  มีกำแพง ทำให้ชั้นล่างจะมีความเสี่ยงมากกว่า 

ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว​ กล่าวเสริมว่า ค่าความเร่งการสั่นสะเทือน หรือ ค่า milli-g ที่วัดได้จากอาคารธานีนพรัตน์ 3.5 milli-g นั้น ทำให้คนที่อยู่บนอาคารรู้สึกได้หรือสิ่งของสั่นไหวได้ ซึ่งหากรุนแรงถึงระดับ 10-20 milli-g อาจมีความเสียหายได้แต่ขณะนี้ตัวเลขยังต่ำอยู่อาคารจึงมีความปลอดภัยแน่นอน ซึ่งโครงการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับกทม.อยู่ในอนาคตจะมีการติดตั้งเครื่องมือในอาคารให้มากขึ้นและสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานอาคารได้ทันที

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเครื่องมือทำให้เราทราบพฤติกรรมตึกมากขึ้น ต่อไปกทม.จะติดเครื่องมือในอาคารสาธารณะ อาคารสูง และรพ.กทม. 6 แห่ง กฎกระทรวงที่ใช้เพื่อควบคุมอาคารในเรื่องแผ่นดินไหวมีมาตั้งแต่ 2550 และมีอาคารที่ขออนุญาตภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้ จำนวน 2,887 อาคาร และมีมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ซึ่งออกในปี 2565 ครอบคลุมอาคาร  141 อาคาร รวม 3,028 อาคาร แต่ยังมีอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเป็นอาคารสูงมากกว่า 6 ชั้นขึ้นไป จำนวน 11,482 อาคาร แต่อาคารเหล่านี้ก็มีการออกแบบเพื่อรองรับอยู่แล้ว 

 

เตรียมพร้อมให้ความสำคัญการซักซ้อมภัยแผ่นดินไหว เทียบเท่าไฟไหม้และสารเคมีรั่ว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องแผนการรับมือภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ยังคงสำรวจอาคารและทำแผนที่อาคารอย่างต่อเนื่องรวมทั้งจะมีการสำรวจโครงสร้างเป็นระยะด้วย ซึ่งการเกิดแผ่นดินยังไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ เมื่อเกิดเหตุจึงต้องมีเครื่องมือวัดและสามารถแจ้งเตือนประชาขนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมพร้อม

ทั้งนี้ระบบที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้คือ Line Alert ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกทม.ได้ร่วมในการแจ้งเตือนเรื่อง ฝุ่นPM2.5 โดยจากนี้ไปจะเชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้เขตสำรวจพื้นที่สั่นไหวที่รู้สึกได้และรายงานเข้าสู่ระบบ อีกส่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนคือเรื่องของการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในอาคาร การซักซ้อมการเผชิญเหตุ ถึงแม้อัตราการเกิดเหตุในกรุงเทพฯจะน้อยแต่ในบางครั้งคนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวในจุดเสี่ยงจึงจำเป็นต้องให้ความรู้ด้วยเช่นกัน การทำผังอาคารและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจน ที่ผ่านมากทม.ได้ตรวจสอบอาคารที่เป็นสถานประกอบการและอาคารที่ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว โดยเดิมเน้นภัยประเภทอัคคีภัยเนื่องจากมีความถี่ของการเกิดเหตุสูงสุด แต่ในขณะนี้ต้องเพิ่มเรื่องสารเคมีรั่วไหลและแผ่นดินไหวด้วย

“สิ่งที่ต้องปรับปรุงในขณะนี้คือเรื่องของข้อมูล เนื่องจากกทม.ไม่สามารถตรวจจับข้อมูล(Detect) แผ่นดินไหวเองได้ ต้องอาศัยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งการหนีภัยพวกนี้จะไม่เหมือนภัยจากไฟไหม้ ต้องมีการฝึกซ้อมแต่ภาพรวมไม่น่าเป็นห่วง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ ตึกสูง กทม. รับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ เร่งให้ความรู้ประชาชน

ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับอาคารสูงซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน นั้น ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวว่า อาคารสูงมีการออกแบบตามมาตรฐานอยู่แล้ว มีการคำนวณโดยวิศวกร เชื่อว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล เช่นเดียวกับพื้นที่ตั้งของอาคารซึ่งเป็นเรื่องของฐานรากและไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออาคารลักลอบก่อสร้างและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งรองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวย้ำว่า อาคารที่ออกแบบในปัจจุบันนี้มีมาตรฐานสูงขึ้น มีการออกแบบเพื่อรับแรงลมอยู่แล้วจึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด 

“อาคารทั่วไปสามารถรับแผ่นดินได้ระดับหนึ่งแล้ว การก่อสร้างไม่ได้ต้องการเฉพาะความแข็งแรง แต่ต้องการเรื่องของความเหนียวด้วย การใส่เหล็กหลอก การมีเสาให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากการก่อสร้างได้มาตรฐานบ้านเรือน 2 ชั้นก็สามารถรับแรงได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ต้องมีการใช้งานได้หลังเหตุแผ่นดินไหวจะเข้มข้นในเรื่องของการออกแบบอยู่แล้ว เช่น สถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ซึ่งหลังแผ่นดินไหวต้องใช้งานได้ ความสำคัญของโครงสร้างจะมีผลต่อความเข้มข้นของการออกแบบด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวให้ความมั่นใจกับประชาชน