ถังดับเพลิงระเบิด ราชวินิต นร.ดับ 1 เจ็บ 21 ลำดับเหตุการณ์ กทม.เตรียมเยียวยา

ถังดับเพลิงระเบิด ราชวินิต นร.ดับ 1 เจ็บ 21 ลำดับเหตุการณ์ กทม.เตรียมเยียวยา

เหตุการณ์ 'ถังดับเพลิงระเบิด' ที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างซ้อมดับเพลิง เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.66) กทม.ลำดับเหตุการณ์เร่งหาสาเหตุ เตรียมเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ​ และนักเรียนทั้งหมด​​ตามระเบียบของทางราชการ

กรุงเทพมหานคร ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งจากเหตุการณ์ 'ถังดับเพลิงระเบิด' ที่ โรงเรียนราชวินิตมัธยม แยกพาณิชย์​ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล​ เขตดุสิต ระหว่างซ้อมดับเพลิง เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.66) เร่งหาสาเหตุ เตรียมเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ​ และนักเรียนทั้งหมด​​ตามระเบียบของทางราชการ

นายชัชชาติ​ สิทธิพันธ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ว่า​ เบื้องต้นพบนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย​ นักเรียนบาดเจ็บเล็กน้อย 21 ราย​ และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง 2​ ราย​ โรงพยาบาลวชิระ 5 ราย นอกนั้นบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผู้สูญเสีย​

เบื้องต้น เหตุเกิดจากทางโรงเรียนได้ประสานให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสนมาเป็นวิทยากรในการซ้อมเผชิญเหตุป้องกันอัคคีภัยในโรงเรียน ซึ่งเป็นครั้งแรกของการฝึกซ้อมของโรงเรียนราชวินิต​ มัธยม และเป็นสิ่งที่ดี​ในการให้ความรู้กับนักเรียนและบุคลากร โดยแบ่งการอบรมเป็น 3 รอบเนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมาก​ และใช้ถังดับเพลิง​ 14 ถังในการซ้อม

โดยในรอบที่ 2 เกิดอุบัติเหตุ​ขึ้นเนื่องจากอุปกรณ์ถังดับเพลิงที่วางอยู่ตรงบริเวณลานพระ​ ซึ่งห่างจากจุดที่เด็กนั่งอยู่ในประมาณ 10 เมตร​ เกิดระเบิดขึ้นแล้วถังที่ระเบิดพุ่งไปโดนนักเรียนจนเสียชีวิต​ในที่เกิดเหตุ เนื่องจากบาดเจ็บอย่างรุนแรง

ถังดับเพลิงดังกล่าวเรียกว่าเป็นถังคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีความดันสูงก็คือ 800-1,200 PSI ขึ้นไป ซึ่งแตกต่างจากถังดับเพลิงเคมีปกติในชุมชนที่มีความดันเพียง​ 100 PSI แต่เวลาซ้อมดับเพลิงจะใช้ถังแบบคาร์บอนไดออกไซด์เพราะไม่ฟุ้งกระจายมาก​ ฉีดแล้วจะระเหยทันที​ ไม่ใช่เป็นสารเคมีที่ปกติฉีดแล้วเป็นควันขาวฟุ้งกระจายเต็มไปหมด

ซึ่งถังดังกล่าวต้องให้พนักงานสืบสวนตรวจสอบสาเหตุการระเบิดอีกที​ เบื้องต้นถังที่นำมาใช้แล้วระเบิด​ ตำรวจแจ้งว่ามีอายุประมาณ 6 ปี​ ได้เติมคาร์บอนไดออกไซด์มาจากบริเวณพัฒนาการ​ และถังดังกล่าวไม่มีเกจวัดความดันเพราะว่าเป็นถังที่มีความเย็นมาก​

 

ถังดับเพลิงระเบิด ราชวินิต นร.ดับ 1 เจ็บ 21 ลำดับเหตุการณ์ กทม.เตรียมเยียวยา

โดยใช้วัดตามน้ำหนักกิโลกรัมแทน​ ซึ่งตอนที่ไปเติมล่าสุดก็ไม่ถึงกับเต็มความจุ เนื่องจากต้องนำมาสาธิต​ ส่วนสาเหตุว่าทำไมถึงระเบิด​ ระเบิดรูปแบบไหนต้องรอการพิสูจน์หลักฐานอย่างชัดเจนก่อน​ ส่วนถังเป็นของใครจะแบ่งเป็น​ 2 ส่วน​ คือ​ บางส่วนผู้ฝึกอบรมนำมาเองและบางส่วนเป็นของส่วนกลาง ซึ่งต้องขอไปตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ถังดับเพลิงระเบิด โรงเรียนราชวินิตมัธยม ล่าสุดตั้งข้อสันนิษฐาน คืบหน้าคดี

- โรงเรียนราชวินิตมัธยม แจ้งหยุดเรียน 2 วัน หลังเกิดเหตุสลด ถังดับเพลิงระเบิด

- คลิปนาที 'ถังดับเพลิงระเบิด' โรงเรียนราชวินิตมัธยม นักเรียนเสียชีวิต-เจ็บ

 

การเยียวยา ถังดับเพลิงระเบิด

ในส่วนของผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ​ และนักเรียนทั้งหมดก็คงต้องมีการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการ รวมถึงต้องมีการเยียวยาทางด้านจิตใจสำหรับนักเรียนที่ประสบเหตุเนื่องจากเป็นภาพที่น่าตกใจ ซึ่ง กทม.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาดูแลด้วย​ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมี 2 จุดที่ต้องตรวจสอบ​ คือ​

1. มาตรฐานของอุปกรณ์เนื่องจากไม่ควรจะมีการระเบิดขึ้น​

2. คือการจัดวางอุปกรณ์ก่อนฝึก

ซึ่งจากการตรวจสอบก็เป็นพื้นที่จำกัด​ ซึ่งในอนาคตต้องให้อยู่ห่างกว่านี้หรือไม่​ หรือว่าควรมีอุปกรณ์​ มีคอกใส่ป้องกันไว้ให้เป็นระเบียบหรือไม่​ ซึ่งกทม.ต้องนำไปทบทวน​ แต่เท่าที่ทราบมาในประวัติศาสตร์กทม.ไม่เคยระเบิด​ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการระเบิดซึ่งต้องไปหาสาเหตุอย่างจริงจัง​

ประกอบกับขณะนี้เราก็มีการสั่งซื้อถังดับเพลิงแบบใหม่ที่จะแจกชุมชนอยู่แล้วประมาณเกือบหมื่นถังเพื่อ​แจกในชุมชน ซึ่งเป็นคนละแบบกับที่ระเบิด เป็นถังพิเศษและมีแรงดันต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในสถานที่ราชการ​ จึงไม่ต้องตื่นตระหนก โดยกทม.จะเพิ่มความเข้มข้นในการทบทวนตรวจสอบด้านความปลอดภัยของถังดับเพลิงต่อไป

 

ถังดับเพลิงระเบิด ราชวินิต นร.ดับ 1 เจ็บ 21 ลำดับเหตุการณ์ กทม.เตรียมเยียวยา

 

รศ.ทวิดา​ กมลเวชช​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการทบทวน​ คือ ขั้นตอนในการวางถังดับเพลิงว่าควรวางตรงไหน​ ตามหลักวิทยาศาสตร์อาจจะมีแรงดันเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะเกิดจากการตากแดด ซึ่งคงต้องไปตรวจสอบอีกให้ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงการเติมกับบริษัทเอกชนซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เติมเต็มความจุและเติมน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง​ ก็เป็นบทเรียนสำคัญมากที่ต้องไปทบทวนกระบวนการ​

นอกจากนี้ก็ต้องทบทวนเรื่องการฝึกอบรมการซ้อมดับเพลิงในโรงเรียน รวมถึงขั้นตอนในการระงับอัคคีภัยของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและสถานีดับเพลิงต่างๆ ว่าสารเคมีดังกล่าวที่ใช้มีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงถังดับเพลิงต่าง​ ๆ ในชุมชน ซึ่งจะต้องมีการทบทวนอบรมป้องกันความเสี่ยงทั้งกระบวนการ รวมถึงมาตรฐานการดูแลถังดับเพลิงทั้งระบบ

 

ถังดับเพลิงระเบิด ราชวินิต นร.ดับ 1 เจ็บ 21 ลำดับเหตุการณ์ กทม.เตรียมเยียวยา