เมื่อสังคมไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์นี้มีความสําคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นสัปดาห์ของการเริ่มต้นในสองเรื่องที่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
1.การเปลี่ยนผ่านของอำนาจทางการเมือง ที่เราจะมีการเลือกผู้ที่จะมาดํารงนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดทดสอบสำคัญของระบบประชาธิปไตยที่ประเทศเรามี ว่าผู้ที่ได้รับฉันทามติและความไว้วางใจสูงสุดจากประชาชนจากการเลือกตั้งจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศตามหลักของประชาธิปไตยได้หรือไม่
2.การบริหารเศรษฐกิจที่จะมาจากรัฐบาลชุดใหม่ในกรณีแนวร่วมแปดพรรค ที่เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากล่างสู่บน ไม่ใช่บนสู่ล่างเหมือนในอดีต มุ่งไปที่ปัญหาที่ประชาชนมี และพร้อมแก้ไขในระดับโครงสร้างเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นและปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี
ทั้งสองเรื่องนี้สำคัญ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศรอคอยมาเป็นเวลานานที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้ประโยชน์แต่ไม่เคยเกิดขึ้น จึงมีคําถามว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้เพิ่งจะมาเกิด ทําไมมาเกิดตอนนี้ อะไรเป็นปัจจัยผลักดัน นี่คือประเด็นที่ผมจะให้ความเห็นในบทความวันนี้
การเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นในประเทศเราขณะนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมตามธรรมชาติเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายส่วนของโลก ที่คนรุ่นใหม่เข้ามาบทบาทนําในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
เป็นไปตามธรรมชาติของสังคม ที่เมื่อของเก่าที่มีเสื่อมหรือชราลงตามสภาพ ก็มีของใหม่เข้ามาแทนที่ ทําหน้าที่นําพาสังคมต่อไป เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย
ความท้าทายคือเราจะบริหารการเปลี่ยนผ่านตามธรรมชาตินี้อย่างไร ที่สังคมจะได้ประโยชน์ ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างมีระเบียบตามเหตุและผล ไม่มีความวุ่นวาย สะท้อนสังคมที่มีการพัฒนาในระดับที่สูง มีคุณภาพ
ในความเห็นของผม การเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นในประเทศเราเป็นผลจากพลวัตและปฏิสัมพันธ์ของสามปัจจัย
ปัจจัยแรก คือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่จำนวนคนสูงวัยคืออายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศมีน้อยลงตามธรรมชาติ แต่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมากสุดทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีประมาณ 13.1 ล้านคน
ส่วนที่เหลือคือคนในวัยทำงานอายุ 18-58 ปี ประมาณ 40 ล้านคนและกลุ่มคนที่เป็นเยาวชน นี่คือกลุ่มคนที่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบประเทศและสังคมไทยจากนี้ไป
ทําให้คนเหล่านี้โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมีความสนใจเรื่องอนาคตประเทศ สนใจปัญหาที่กระทบความเป็นอยู่ของพวกเขาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต้องการมีบทบาท ต้องการแสดงความเห็นในปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา
แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีโอกาสเพราะการเมืองในบ้านเราไม่พร้อมให้มีการแสดงความคิดเห็นหรือรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง คนหนุ่มสาวจึงแสดงพลังเต็มที่เมื่อมีโอกาส เช่นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ปัจจัยที่สอง คือปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่เศรษฐกิจโตต่ำต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่ขาดโอกาสและรายได้ ความเหลื่อมล้ำมีมาก คนหนุ่มสาวมีความไม่แน่นอนมากในชีวิตและในอนาคตทางเศรษฐกิจของตน
ขณะที่รัฐบาลไม่ตอบสนองต่อปัญหาและความห่วงใยเหล่านี้ ตรงข้ามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐมีมาก และประชาชนรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและในระบบยุติธรรมของประเทศ
สิ่งเหล่านี้กระทบคนหนุ่มสาวทําให้คนหนุ่มสาวผิดหวังและต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาและลดความไม่แน่นอนในชีวิต
ปัจจัยที่สาม คือพลังและความมุ่งมั่นในความคิดและอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาว ที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความยุติธรรมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย พวกเขาโตในโลกดิจิทัลและเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก เข้าถึงข้อมูลและข่าวสารต่างๆ อย่างทันเหตุการณ์ สามารถวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล ได้สัมผัสปัญหาที่ประเทศและคนส่วนใหญ่มีด้วยตัวเอง เข้าถึงเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีแลกเปลี่ยนข้อมูล แชร์ปัญหาและประสบการณ์ สร้างความเข้าใจ และรวมตัวกัน จนนำไปสู่ความต้องการร่วมของคนหนุ่มสาวในวงกว้างที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง กระจายอยู่ทั่วประเทศอย่างที่เห็น เป็นพลังคนหนุ่มสาวที่ต้องการเห็นประเทศดีขึ้น
พลวัตของสามปัจจัยนี้ได้นําพาสังคมไทยมาถึงโมเมนต์การเปลี่ยนแปลงอย่างที่กําลังเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับคนรุ่นสูงวัยอย่างผมคงตระหนักดีว่า พลังคนหนุ่มสาวของประเทศที่เต็มไปด้วยความสด ความคิดใหม่ๆ ที่หลากหลาย และความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศชาติดีขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะในประเทศไหน และทุกประเทศต้องการพลังเช่นนี้ที่จะนําพาประเทศและสังคมให้ก้าวหน้าและคงอยู่ต่อไป
พลังคนหนุ่มสาวของประเทศเราอย่างที่เห็นจึงเป็น asset หรือทรัพย์สินสำคัญที่สังคมต้องช่วยกันสนับสนุน บ่มเพาะและให้คำแนะนำ เพื่อให้ความตั้งใจที่ดีของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ให้พวกเขาใช้ความรู้ความสามารถและความตั้งใจที่บริสุทธิ์นําประเทศไปสู่การแก้ไขปัญหา ไปสู่ความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตเพื่อประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม
นี่คือความหวัง เป็นความหวังที่คนทั้งประเทศเห็นด้วย และเอาใจช่วย
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล