วิกฤติวัฒนธรรมการเลี้ยงดูพ่อแม่ | บรรยง วิทยวีรศักดิ์
สถิติบอกเราว่า เด็กเกิดน้อยลง คนรุ่นใหม่ ไม่นิยมมีลูก เมื่อเรียนจบมักแยกตัวจากครอบครัว ห่างเหินพ่อแม่ ฤา นี่จะนำไปสู่วิกฤติวัฒนธรรมการเลี้ยงดูพ่อแม่ หรืออาจพูดได้ว่า เป็นวิกฤติการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ
บรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA)
ผมไม่ได้ห่วงตัวผมหรือคนแก่ตอนนี้ ผมกำลังห่วงคนหนุ่มสาวที่กำลังจะแก่ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคนจบปริญญาตรีจำนวนมาก คนเหล่านี้มีความรู้ มีความมั่นใจในตนเอง มีการงานที่ดีและมั่นคง หลายคนมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้รองรับตอนเกษียณอายุ
ขณะที่ระบบการเงินในประเทศเฟื่องฟู ทุกคนเชื่อว่าตนเองจะร่ำรวยได้ในวันเกษียณอายุ เขาเหล่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีลูกมาดูแล อีกทั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลก็มีฐานะที่มั่นคง มีเงินเพียงพอที่จะดูแลคนแก่ แต่ความฝันเหล่านั้นกำลังจะทลายลง
เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบวันนี้เก็บเงินได้น้อยมาก เพราะระบบเงินกู้เอื้ออำนวย ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเงินสด มีข้อมูลว่าคนรุ่นใหม่เป็นหนี้จำนวนมาก ขณะที่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ถูกรัฐบาลทำลายอย่างไม่รู้ตัว เดิมที กฎหมายกำหนดให้เงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างเป็นจำนวนน้อยอยู่แล้ว แต่เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลมักเอาใจนายจ้างด้วยการแก้กฎหมายให้ลดเงินสะสมและเงินสมทบลงเหลือขั้นต่ำฝ่ายละ 2% ทำให้เงินที่จะได้รับยามเกษียณลดลงเกือบ 5 เท่า
กล่าวคือ เดิมทีถ้าลูกจ้างอายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท เริ่มเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าเขาจ่ายเงินสะสม 5% นายจ้างสมทบ 5% กองทุนบริหารได้ผลตอบแทน 5% และเงินเดือนเพิ่มทุกปีๆละ 5% เมื่ออายุ 60 ปี ลูกจ้างคนนี้จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3.1 ล้านบาท
แต่แนวโน้มในปัจจุบันคือ ลูกจ้างคนนี้ ถ้าอายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 20,000 บาทเช่นกัน เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบเดียวกัน ถ้าเขาจ่ายเงินสะสมเหลือเพียง 2% นายจ้างก็สมทบ 2% กองทุนบริหารได้ผลตอบแทน 3% และเงินเดือนเพิ่มทุกปีๆละ 3% เมื่ออายุ 60 ปี ลูกจ้างคนนี้จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหลือเพียง 6.99 แสนบาทเท่านั้น
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์กำหนดให้บริษัททุกแห่งในประเทศ ต้องหักเงินสะสมของพนักงานเพื่อเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 20% และรัฐบาลจะสมทบให้อีก 17% รวมเป็น 34% เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ 4% คงพอจะมองเห็นว่าอนาคตพนักงานบริษัทในไทย เมื่อยามเกษียณอายุจะอยู่กันอย่างไร
ในด้านการลงทุน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนชื่อดังได้กล่าวเร็วๆนี้ว่า ปัจจุบันการจะลงทุนในตลาดหุ้นของไทยแล้วให้ได้ผลตอบแทนอย่าง 30 ปีที่ผ่านมา ทำได้ยากมาก ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ การบริโภคชะลอตัวลง เศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูเหมือนเดิม
หากเป็นการฝากเงินหรือลงทุนในพันธบัตร ผลตอบแทนยิ่งน้อยจนใจหาย จากอดีตที่เคยอยู่แถว 5-8% ปัจจุบันได้เพียง 1-2% เท่านั้น เพราะประเทศใหญ่ๆใช้นโยบาย Qualtitative Easing (QE) พิมพ์เงินขึ้นมาใช้ฟรีๆ เงินจึงล้นโลก กดดอกเบี้ยให้ต่ำลง แต่เงินไหลไปให้นักธุรกิจใหญ่และนายธนาคาร ไม่ได้ไหลไปสู่มือประชาชนธรรมดา
เมื่อคนรุ่นใหม่ เก็บเงินไม่ได้ ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำ แถมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่ได้มากเหมือนเดิม จึงต้องไปฝากความหวังกับรัฐบาล ปรากฏว่า รัฐบาลก็ถังแตก รัฐบาลทั่วโลกมีแนวโน้มใช้นโยบายประชานิยม เพื่อซื้อคะแนนเสียง ทำให้เงินคงคลังร่อยหรอ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจบ่อยครั้ง บวกกับการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทุกประเทศมีหนี้ต่อ GDP เกินระดับที่ควรเป็น ถึงตอนนั้น ตอนที่เด็กรุ่นใหม่เกษียณอายุ เรายังคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีเงินเป็นกอบเป็นกำมาดูแลพวกเราอีกหรือ
ต้องไม่ลืมว่า อีก 20 ปีข้างหน้า คนแก่มีมากขึ้น ขณะที่คนวัยทำงานลดลง เพราะเด็กเกิดน้อยลง รัฐเก็บภาษีได้น้อย ขณะที่ต้องเลี้ยงดูคนแก่มากขึ้น 2-3 เท่าตัว รัฐบาลจะยิ่งขาดดุลงบประมาณทุกปี และเข้มงวดการใช้เงินยิ่งขึ้น
คนรุ่นผม ( เจนเนเรชั่น Baby Boomer ปัจจุบันอายุ 60 ปี) เรายังพูดกันว่า การมีลูกคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ถึงที่สุดอาจจะไม่ได้พึ่งพาเรื่องเงิน แต่ยังพึ่งพาเรื่องการดูแล การใส่ใจจากลูกได้ อีกทั้งคนเบบี้บูมเมอร์ หรือคนเจนเนอเรชั่น X นี้ ยังพบเห็นความผูกพันกับพ่อแม่ ขนาดลาออกจากงานเพื่อไปเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ป่วยติดเตียง ขอทำหน้าที่ลูกเป็นครั้งสุดท้ายให้ดีที่สุด
ถามว่าเราคาดหวังสิ่งนี้จากคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ และในวันที่พวกเขาแก่ตัวลง เขาจะคาดหวังให้ใครมาดูแล ผมเชื่อว่า ปัญหาจะมีมากขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมา ทับทวีขึ้นไป โครงสร้างประชากรไทยที่ปัจจุบันเป็นรูปโอ่ง อีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นลูกข่างที่แทบไม่มีเด็กเกิดใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก มีแต่คนรวยส่วนน้อยนิดที่อยากมีลูกมาสืบทอดกิจการ
เมื่อปัญหาทับทวีจนถึงขีดสุด อีก 50 ปี ผมเชื่อว่าปัญหาที่เป็นสากลนี้เลวร้ายถึงขั้นว่าสหประชาชาติมองว่า นี่เป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ จึงต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ปัญหา และนำไปสู่การมีปฏิญญาร่วมกัน ร่างเป็นกติกาสากล ที่ทุกประเทศต้องบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในบทเรียน สอนหรือปลูกฝังให้ทุกครอบครัวต้องมีลูกอย่างน้อย 2 คน เรื่องความกตัญญูจะถูกหยิบยกมาสอน มนุษย์จะได้บทสรุปว่า เผ่าพันธุ์ของมนุษย์จะอยู่ได้ ต้องมีการเลี้ยงลูกและพ่อแม่ไปด้วยกัน สังคมจึงจะอยู่กันอย่างสุขสงบ
เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายเฟ้อฝัน ปัจจุบันเรากำลังมีปัญหาโลกร้อน เพราะเราสนุกกับการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำมัน และพลาสติก จนทำให้ปัญหาโลกร้อนปะทุรุนแรงขึ้นต่อเนื่องทุกปี เกิดพายุบ่อยครั้ง ไฟไหม้ร้ายแรงในอเมริกาและออสเตรเลีย ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น จนปะการังมีภาวะฟอกขาวไปทั่วโลก
ในที่สุด โลกมนุษย์มาถึงจุดที่ต้องมีข้อตกลงลดโลกร้อนร่วมกัน เลิกให้ถุงพลาสติกในห้างค้าปลีก ประเทศแถบยุโรปมีข้อตกลงเลิกใช้รถที่ใช้น้ำมันใน 10-20 ปีข้างหน้า เพราะเมื่อมนุษยชาติมาถึงจุดที่มีการคุกคามเผ่าพันธุ์ของตนเองอย่างเห็นได้ชัด มนุษย์จะตัดสินชะตาตัวเองร่วมกัน
วิกฤตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอ วิกฤติการเลี้ยงดูพ่อแม่ก็เช่นกัน วันนี้ เราอาจไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรง เรากำลังทดลองทฤษฎีใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือ เราจะแก่ตัวโดยไม่ต้องมีลูกมาดูแล เราคิดว่า เราจะมีเงินเกษียณเพียงพอ เราเชื่อว่าอย่างไรเสีย รัฐต้องเข้ามาเลี้ยงดู แต่กว่าจะรู้ตัวว่ามันแย่กว่าที่คิด มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะเรื่องการมีลูก ไม่สามารถมาแก้มือได้เมื่อตอนแก่ครับ.