สะพานถล่มลาดกระบัง ล่าสุด 11 ก.ค.66 อัปเดตการเคลียร์พื้นที่จราจร การเยียวยา
"สะพานถล่มลาดกระบัง" 11 ก.ค.2566 ประมวลภาพตรวจสอบจุดคานก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เผยเรื่องนี้คงต้องมีคนรับผิดชอบเพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
สถานการณ์ "สะพานถล่มลาดกระบัง" เช้านี้ (11 ก.ค.2566) น.พ.ต.อ.พรรณลบ สำราญสม ผกก.สน.จรเข้น้อย ประมวลภาพตรวจสอบจุดคานก่อสร้าง ทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม ช่วงเวลา 07.00 น. ที่ผ่านมา
จุดคานก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่ม ล่าสุด รายงานยอดผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 12 ราย รถยนต์เสียหาย 3 คัน โดยสถานการณ์ล่าสุดยกรถยนต์ออกจากซากคานได้ 1 คัน ยกคานเหล็กออกได้ 1 ชิ้นยาวประมาณ 10 เมตร การจราจรยังใช้การได้ดีไม่มีปัญหา
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ระบุว่าล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คนเป็นวิศวกร และเสียชีวิตที่ รพ.อีก 1 คน โดยสถานการณ์ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของโครงสร้างก่อนเพราะโครงสร้างได้รับความเสียหายมาก มีความไม่เสถียรอยู่ อาจมีการพังต่อเนื่องได้ การเข้าพื้นที่ต้องประเมินความปลอดภัยทางวิศวกรรมก่อน ต้องมั่นใจว่าเมื่อเข้าไปจะไม่เสียหายมากขึ้น
ตอนนี้ได้มอบหมายรองปลัด กทม. ร่วมกับ ผอ.สำนักการโยธา และวิศวกรรมสถานฯ วิศวกรและผู้รับเหมามาประเมินสถานการณ์ก่อนว่ามีความปลอดภัยแค่ไหน การเข้าไปกู้ภัยไม่สามารถเข้าได้ทันที ต้องประเมินทางวิศวกรรมด้วยและมอบให้ ผอ.เขตดูแลการคมนาคมการเข้าออกพื้นที่ การตัดไฟในบางจุด เร่งจัดการเพื่อให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว ทุกส่วนต้องดูคู่ขนานกันไป
สำหรับผู้บาดเจ็บ มอบให้ทางศูนย์เอราวัณ และผอ.โรงพยาบาลลาดกระบัง เป็นผู้รวบรวมตัวเลขผู้บาดเจ็บ สูญหาย และหากใครมีญาติ หรือคนรู้จักที่คาดว่ายังไม่ได้กลับบ้าน ติดต่อไม่ได้ หรือสูญหายจากเหตุการณ์ ให้โทรไปที่เบอร์ 199 และได้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลืออยู่ที่วัดพลมานีย์ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
"เป็นเรื่องไม่ควรจะเกิด ต่อไปต้องดูโครงการต่างๆให้รอบคอบ ดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เรื่องนี้คงต้องมีคนรับผิดชอบเพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย"
อัปเดต สะพานถล่มลาดกระบัง เวลา 12.30 น.
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.2566) ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เข้ามาดูในพื้นที่ และ ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งรัดในตอนนี้ คือการเร่งรื้อโครงสร้างที่เกิดความเสียหาย ไปกระทบกับการจราจรและเกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่
มีการวางแผนการรื้อย้ายโครงสร้างกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และบริษัทผู้รับเหมา ซึ่งอันดับแรกจะเร่งเคลียร์พื้นที่ในส่วนที่กีดขวางการจราจร เพื่อให้เปิดใช้งานได้เร็วที่สุด ส่วนที่เหลืออื่นๆเป็นแผนการดำเนินการต่อจากนี้ ว่าจะมีการซ่อมแซมแก้ไขต่อไปอย่างไร
ตอนนี้ได้มีการเตรียมเครื่องจักรเป็นรถเครนขนาด 200 ตัน และ 50 ตัน เพื่อจะมาช่วยในการยกพยุงตัวโครงสร้าง และตัดชิ้นส่วนที่เสียสภาพเพื่อทำการเคลื่อนย้ายออกไป และการที่ต้องตัด เพราะโครงสร้างมีขนาดใหญ่ ประกอบกันขึ้นมา ทำให้มีความยาวและน้ำหนักมาก ยากต่อการเคลื่อนย้าย
ซึ่งในการแบ่งออกเป็นชิ้นนั้น จะใช้วิธีการถอดน็อตตามโครงสร้างที่ประกอบไว้ แต่หากส่วนไหนถอดไม่ได้หรือถอดยาก ก็จะใช้แก๊สเป่าให้ขาด ซึ่งระหว่างการดำเนินการถอดแบ่งชิ้นส่วน ต้องใช้เครนขนาดใหญ่ยกถ่วง และใช้เครนตัวเล็กพยุงไว้ให้ทำงานได้ปลอดภัย
อุปสรรคสำคัญคือเรื่องสภาพพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้การทำงานอาจไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และต้องระมัดระวังในจุดที่อยู่ใกล้กับปั๊มน้ำมัน โดยต้องมีการวัดแก๊สตลอดเวลา ซึ่งจากกการประเมินคร่าวๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วันจะสามารถเคลียร์พื้นที่ส่วนที่กีดขวางการจราจรได้ทั้งหมด
สาเหตุ
ต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน โดยวันนี้ (11 ก.ค.2566) จะนำโดรนขึ้นไปถ่ายภาพมุมสูงเพิ่มเติม เพื่อนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของโครงสร้างร่วมกับภาพที่ได้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งระงับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จนกว่าจะสามารถหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างปลอดภัยถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
ขณะที่นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง เผยว่า ล่าสุดได้รื้อถอนชิ้นส่วนบริเวณส่วนปลายชิ้นแรกออกไปแล้ว และไล่ตัดจากทางปลาย เข้ามาทางโคน ฝั่งที่พาดมาทางปั๊มน้ำมัน ซึ่งอาจจะใช้เวลาหน่อย
ซึ่งแผนหลังการเคลื่อนย้ายออกแล้ว ก่อนจะให้ประชาขนสัญจรได้ จะต้องประเมินความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรงจะต้องมีแผนก่อน ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน
พูดถึงการเยียวยา
นายชัชชญา กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้รับเหมาก่อสร้างมีประกันอุบัติเหตุ สำนักงานเขตลาดกระบังจะติดตามผู้ที่ได้รับความเสียหายก็ให้มาแจ้งไว้ และทางเขตก็จะประสานประกันภัยเข้ามาให้การช่วยเหลือ
รายงานล่าสุด อัปเดตรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
เสียชีวิต 2 ราย
1.นายอรัญ สังขรักษ์ เสียชีวิตที่ รพ.จุฬารัตน์ 9
2.นายฉัตรชัย ประเสริฐ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
บาดเจ็บ 12 ราย
1.น.ส.รัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี (โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9)
2.นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี (โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9)
3.น.ส.อุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี (โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9)
4.นายศุภชัย พวงยี่โถ อายุ 15 ปี (โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9)
5.นายพรรษา พวงยี่โถ อายุ 43 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
6.นายศรศักดิ์ เหมือนพร้อม 26 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
7.นายสุเทพ สุวรรณทา (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
8.นายวีสิทธ์ แจ้งทา อายุ 35 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
9.นายทัศนัย รัตนแสง อายุ 31 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
10.น.ส.มัจฉา เสียวสุข อายุ 25 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
11.นายณัฐพงษ์ มัคยุโสม (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)
12.นายอารักษ์ กิ่งคำ อายุ 59 ปี (โรงพยาบาลลาดกระบัง 2)