โทษ ปรับทางอาญา ปรับทางปกครอง ปรับเป็นพินัย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

โทษ ปรับทางอาญา ปรับทางปกครอง ปรับเป็นพินัย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

โทษปรับ เป็นโทษทางอาญาสถานหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจกำหนดเป็นโทษปรับสถานเดียว หรือเป็นโทษปรับที่ควบคู่ไปกับโทษจำคุกด้วย

นอกจากเป็นโทษตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว บรรดาพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดที่มีโทษทางอาญากำหนดไว้ ก็มีการกำหนดโทษปรับ อาจเป็นโทษปรับสถานเดียวหรือควบคู่กับโทษจำคุกก็ได้ 

  คดีอาญาที่มีโทษปรับ สถานเดียวคดีเป็นอันเลิกกัน
          เมื่อผู้ต้องหายอมเสียค่าปรับในอัตราสูงสำหรับความผิดนั้น หรือผู้ต้องหายอมเสียค่าปรับตามที่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับ

        ถ้าคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ถ้าศาลพิพากษาให้ต้องโทษปรับ ถ้าผู้ต้องโทษไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ โดยอัตราห้าร้อยบาทต่อวัน

โทษปรับทางปกครอง
                   ต่อมามีการพัฒนาระบบกฎหมายไทยอีกขั้นหนึ่ง โดยกำหนดให้มีโทษทางปกครองขึ้นแทนการปรับทางอาญา     การตราพระราชบัญญัติบางฉบับในช่วงนั้น จึงกำหนดให้มีโทษปรับทางปกครองที่มีลักษณะคล้ายเป็นการลงโทษในทางแพ่ง  สำหรับการกระทำฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือคำสั่งทางปกครองตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้นฯ

          โทษปรับทางพินัย
            คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้ศึกษาระบบการกำหนดโทษตามกฎหมายของต่างประเทศ  เพื่อปฏิรูประบบการกำหนดโทษในระบบกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา77 วรรคสามแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้รัฐพึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

และพิจารณากำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะกับสภาพความผิดและฐานะของผู้กระทำความผิด เพื่อมิให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินสมควรหรือต้องรับภาระในการลงโทษที่แตกต่างกันอันเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน    

โทษ ปรับทางอาญา ปรับทางปกครอง ปรับเป็นพินัย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และได้ตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่22มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

           สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ
           คำนิยาม 
          “ปรับเป็นพินัย”   หมายความว่า  สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด          
          “ความผิดทางพินัย”    หมายความว่าการกระทำ งดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย

           ข้อสังเกต จากคำนิยามทั้งสองคำข้างต้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความกระจ่าง ว่า ความผิดทางพินัยเป็นอย่างไร เพราะเมื่อกล่าวถึง คำว่า ค่าปรับเป็นพินัย  ก็โยงไปว่าเป็นการกระทำความผิดที่ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย เมื่อกล่าวถึงความผิดทางพินัยก็โยงกลับว่าเป็นการกระทำความผิดที่กฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย         

           เพื่อหาความชัดเจน ของคำว่าความผิดทางพินัย  โดยพิจารณาจากคำปรารภของพระราชบัญญัตินี้ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้

           จากคำปรารภของพระราชบัญญัติฉบับนี้อาจสรุปได้ว่า ความผิดทางพินัยคือการกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง หรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวาง

            เป็นกฎหมายกลางสำหรับการดำเนินการปรับเป็นพินัย

             -พระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายกลาง สำหรับการดำเนินการในการปรับเป็นพินัยตามบทกฎหมายอื่นฯที่กำหนดให้มีการปรับเป็นพินัย  และไม่ถือว่าการดำเนินการปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง และไม่ใช่โทษทางอาญา

            - การกำหนดค่าปรับเป็นพินัย (ซึ่งต้องไม่เกิน  อัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้) ให้พิจารณาความเหมาะสมข้อเท็จจริง ที่กฎหมายฉบับนี้ไว้สี่ข้อ ที่สำคัญคือระดับความรุนแรงผลที่กระทบต่อชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิด  ความ รู้ผิดชอบประวัติส่วนตัวของผู้กระทำผิด อายุ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ นิสัยอาชีพ สิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดและสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด

โทษ ปรับทางอาญา ปรับทางปกครอง ปรับเป็นพินัย | สกล หาญสุทธิวารินทร์

               เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดความผิดเป็นพินัยนั้นกำหนดไว้ ถ้าไม่มีบัญญัติไว้ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นกำหนด

              - การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดพินัยหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่กำหนดปรับเป็นพินัยสูงสุดในการปรับผู้กระทำความผิด

             -  ผู้กระทำความผิดพินัยอันเป็นความผิดทางพินัยหลายกรรมต่างกัน ให้ปรับเป็นพินัยผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

               - ผู้กระทำความผิดอันเป็นหลายกรรม  บางกรรมเป็นความผิดทางพินัย บางกรรมเป็นความผิดทางอาญา ให้เจ้าหน้าที่รัฐปรับเป็นพินัย ในกรรมที่เป็นความผิดทางพินัย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินคดีอาญาสำหรับกรรมที่เป็นความผิดอาญาต่อไป 

           การชำระค่าปรับเป็นพินัย

           - ผ่อนชำระตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้และชำระค่าปรับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามเกณฑ์ที่กำหนดได้    

            - ในกรณีผู้กระทำผิด เป็นบุคคลธรรมดา กระทำผิดพินัยเพราะความยากจนเหลือทนทาน เพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัส อาจยื่นคำร้องขอเพื่อให้กำหนดค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยขน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้

            -  ผู้กระทำความผิดที่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่มีเงิน ชำระค่าปรับเป็นพินัย  อาจยื่นคำร้องขอทำงานเพื่อบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้

             - ผู้ต้องคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัย  (ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับพินัย เช่นค่าปรับทางอาญา)

            -  ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐบันทึกการกระทำความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในประวัติอาชญากรรมหรือบันทึกเป็นประวัติอาชญากรรม

             การเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดที่มีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายฉบับนี้

            -  เมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามกฎหมายในบัญชี 1(พระราชบัญญัติ168 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัย ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถืออัตราโทษปรับทางอาญาเป็นอัตราโทษปรับทางพินัย

           - สำหรับความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามกฎหมายตามบัญชี2 (พระราชบัญญัติ33ฉบับ) จะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

           -  ให้เปลี่ยนโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายในบัญชี3 (พระราชบัญญัติ 3 ฉบับ) เป็นความผิดทางพินัย และให้ถืออัตราโทษปรับทางปกครองดังกล่าวเป็นอัตราโทษปรับทางพินัย ตามกฎหมายนี้ 

            - บรรดาความผิดทางอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย ที่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมของบุคคลไว้ หรือในฐานะประวัติอาชญากรรมให้เป็นอันสิ้นผล