เหตุรถไฟชนกระบะ สังเวย 8 ศพ ชดเชยเหยื่อ 1.52 ล้านต่อคน พบสัญญาณไฟเตือนขัดข้อง
ฉะเชิงเทรา - อุบัติเหตุ รถไฟบรรทุกสินค้าชนรถกระบะ สังเวย 8 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.2566) คปภ. เผยจำนวนจ่ายเงินชดเชยเหยื่อ 1.52 ล้านต่อคน นอกจากนี้มรายงานว่า พบสัญญาณไฟเตือนข้ามรางรถไฟขัดข้อง และทางข้ามผ่านทั้งกว้างและลาดชัน
ฉะเชิงเทรา - อุบัติเหตุ รถไฟบรรทุกสินค้าชนรถกระบะ สังเวย 8 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.2566) ที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางข้ามทางรถไฟ ระหว่างสถานีหยุดรถไฟคลองอุดมชลจรมายังสถานีรถไฟเปรง คปภ. เผยเรื่องการจ่ายเงินชดเชยผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกันมีรายงานว่าพบสัญญาณไฟเตือนข้ามรางรถไฟขัดข้อง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ฉะเชิงเทรา ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยและค่าสินไหมทดแทนของรถยนต์กระบะที่เกิดเหตุพบว่า กระบะคันดังกล่าวได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ) ไว้กับ บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีวงเงินคุ้มครองการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน
กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาทต่อวันรวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนั้น กระบะยังได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1,000,000 บาทต่อคน วงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 170,000 บาทต่อครั้ง
และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 1 แสนบาท ผู้โดยสาร 1 แสนบาทต่อคน (2 คน) และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1 แสนบาทต่อคน
ในการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ หากรถยนต์กระบะเป็นฝ่ายผิด ทายาทโดยธรรมของผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้ง 8 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,525,000 บาท จากการทำประกันภัย พ.ร.บ. รายละ 500,000 บาท จากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) รายละ 1,000,000 บาท และจากค่าสินไหมทดแทนความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ จำนวน 200,000 บาท โดยเฉลี่ยจ่ายทั้ง 8 ราย รายละ 25,000 บาท
ด้าน นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงมายังในพื้นที่จุดเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและหาแนวทางการป้องกันแก้ไข ต่อมา นายสุรชัย โคตรบุตรดี นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายเอก อิทธิยาภรณ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงได้เดินทางลงมาตรวจสอบหาข้อบกพร่องและสาเหตุในที่เกิดเหตุเช่นกัน
นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงฯ ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ กรมการขนส่งทางราง อบต. และผู้ใหญ่บ้านที่มาในที่เกิดเหตุว่า จากข้อมูลในรายงานของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า สัญญาณไฟเตือนทางข้ามให้ระวังรถไฟด้านฝั่งที่รถยนต์กระบะบรรทุกคนงานขับมานั้นขัดข้อง ไม่ติดเตือนผู้ใช้ทางก่อนที่ขบวนรถจะเข้ามาถึงยังจุดตัดทางข้าม แต่เมื่อขบวนรถผ่านเลยไปแล้วสัญญาณไฟเตือนจึงติดขึ้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่วัชพืชขึ้นมาปกคลุมจนมองไม่เห็นแนวรางรถไฟ
รวมถึงทางข้ามแห่งนี้ยังไม่มีแผงไม้กั้นขณะที่ขบวนรถไฟผ่านมา ทั้งที่ชาวบ้านได้ใช้เป็นเส้นทางข้ามมานานกว่า 30-40 ปีแล้ว ตามข้อมูลที่ผู้ใหญ่บ้านรายงาน และบริเวณทางข้ามรางรถไฟแห่งนี้ ยังมีลักษณะเป็นเนินสูงต่างระดับมากกว่าถนนรถยนต์ ทั้งยังมีระยะทางในการข้ามผ่านรางรถไฟค่อนข้างยาวไกลมากกว่าสิบเมตร เนื่องจากมีรางรถไฟวางขนานเรียงกันไปตลอดแนวมากถึง 3 ราง โดยที่ยังมีการเว้นช่วงห่างกันออกไปเป็น 2 ขยักอีกด้วย
ทำให้คนขับรถยนต์ข้ามรางรถไฟมองไม่เห็นขบวนรถไฟ ซึ่งหลังจากทราบปัญหาแล้วเบื้องต้นจะประสานมายัง อบต.คลองอุดมชลจร ให้จัดทำเครื่องหมายจุดเตือนให้ระวังสำหรับคนใช้เส้นทางผ่าน จากนั้นจะได้ให้ทาง อบต.คลองอุดมชลจร ได้ทำหนังสือในการยื่นไปร้องขอที่จะให้มีแผงไม้กั้นต่อไป
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ลักษณะข้อบกพร่องที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ตามที่ทางเจ้าหน้าหลายฝ่ายลงมาพบนั้น มีความคล้ายคลีงกันกับกรณีอุบัติเหตุใหญ่เมื่อปี 2563 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 40 คน ที่บริเวณทางข้ามใกล้กับสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปอีกเพียงแค่ 1 ช่วงสถานี หรือเลยจากจุดนี้ไปอีกแค่เพียงประมาณ 6-7 กม. เท่านั้น
ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้กองพนักงานสัมพันธ์และสวัสดิการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ติดต่อให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมตามระเบียบของการรถไฟฯ กับครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตต่อไป ซึ่งการรถไฟฯ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บมา ณ โอกาสนี้
ทั้งนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 4 ราย อยู่ระหว่างประสานงานไปยัง รพ.พุทธโสธร เพื่อรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลตามความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยต่อไป โดยสำนักงาน คปภ.ฉะเชิงเทรา จะช่วยประสานงานและเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
นายวิเชียร อายุ 58 ปี เจ้าของบ่อเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ ม.5 ต.คลองอุดมชลจร กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมาได้นัดหมายกับนายวิชัย หัวหน้าคณะลากปลาจาก ต.ศีรษะจรเข้น้อย อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ว่าจะนำคนงานมาลากปลายังที่บ่อในเวลา 02.00 น. แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายแล้ว นายวิชัย ยังมาไม่ถึงจึงได้ให้ภรรยาโทรติดตาม ส่วนตนนั้นได้ขับรถออกมาดู เนื่องจากได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังแบบถี่ยิบจำนวน 4-5 ครั้ง คล้ายกับการเปิดหวูดแจ้งเตือนเหตุ
โดยเสียงหวูดดังลั่นออกมาไกลจนถึงบ่อปลาตนเองที่อยู่ห่างออกไปถึง 6 กม. และเมื่อมาถึงยังในที่เกิดเหตุจึงพบภาพเหตุการณ์น่าสลดดังกล่าว พร้อมกันกับที่ภรรยาได้โทรศัพท์มาแจ้งเหตุให้ทราบพอดีหลังจากติดต่อกับนายวิชัย คนขับรถที่พาคณะลากปลามาได้แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน สำหรับบ่อปลาของตนนั้น จะลากปลาเพียงประมาณปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และนายวิชัย จะนำคนงานเข้ามาลากเป็นขาประจำ