เจ้าท่าภูเก็ต เอาผิดเรือปล่อยน้ำมันลงทะเล ประสาน GISTDA ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม
เจ้าท่าภูเก็ต แจ้งความ สภ.ฉลอง เอาผิดเรือปล่อยน้ำมันลงทะเล พบเรือ 81 ลำ เข้าข่ายต้องสงสัย เร่งประสาน GISTDA ตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ชัดผู้กระทำความผิด
จากกรณีคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดเข้ามายังชายหาดไม้ขาว หาดในยาง และหาดไม้ทอน เขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชายหาดแล้ว ยังส่งผลต่อสัตว์น้ำในทะเลและหน้าดินด้วย โดยพบเต่าทะเลอย่างน้อย 2 ตัว เปื้อนคราบน้ำมันไปทั้งตัว ได้แก่ บริเวณชายหาดหน้าลากูน่าภูเก็ต กับเกาะราชา
ล่าสุดวันนี้ (7 ส..ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาพชายหาดต่าง ๆ เช่น หาดกะตะกะรน หาดป่าตอง หาดในยาง ยังคงพบคราบน้ำมัน ซึ่งจับตัวเป็นก้อนขนาดเล็กๆ และขยะทะเลที่เปื้อนคราบน้ำมันถูกคลื่นพัดขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาดอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณลดน้อยลง เมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ได้ช่วยกันเก็บกวาดและทำความสะอาด
ขณะเดียวกันพบว่า มีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งยังคงลงเล่นน้ำทะเล และกิจกรรมบริเวณชายหาด เนื่องจากคลื่นลมเริ่มเบาบางลง โดยมีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดเฝ้าระวัง และมีการเป่านกหวีดเตือนกรณีที่นักท่องเที่ยวว่ายน้ำออกนอกเขตที่กำหนด
ด้าน นายณชพงศ์ ประนิตย์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง เพื่อเอาผิดกับเรือที่ปล่อยน้ำมันลงทะเล รวมทั้งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ กระจายกันแจ้งความดำเนินคดีในสถานีตำรวจภูธร ทั้ง 3 อำเภอ ที่มีชายหาด และได้รับกระทบจากคราบน้ำมันที่ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พศ. 2456 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 119 ทวิ
ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใดๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย
นายณชพงศ์ กล่าวว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมจราจรและความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน (CSCA.) ตรวจสอบเรือผ่าน ระบบ VTS. ที่วิ่งผ่านชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตออกไปเป็นระยะทาง 95 nautical mile และมีโอกาสเข้าข่ายที่จะสามารถกระทำความผิดได้ ภายในช่วงระยะเวลา 7 วันย้อนหลัง (ช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566-3 สิงหาคม 2566) พบว่ามีจำนวนรวม 81 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือสินค้า จำนวน 62 ลำ, เรือ Tanker จำนวน 18 ลำ และเรือ Tug Supply จำนวน 1 ลำ
นอกจากนี้จากการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ซึ่งได้สนับสนุนข้อมูล Satellite - Derived surface current 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 - 1 สิงหาคม 2566 และ ช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2566 - 6 สิงหาคม 2566 โดยข้อมูลดังกล่าวจะบอกถึงทิศทางของกระแสน้ำที่ได้ที่มีความเร็วเป็น เมตร/วินาที
จากการประมวลผลผ่านดาวเทียม โดยจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ไปจำลองหาจุด Drop back ของการปล่อยทิ้งของเสียดังกล่าวจากเรือ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาและตำแหน่งของเรือที่ได้กลั่นกรองมา จำนวน 81 ลำ เพื่อจำกัดขอบเขตเรือเป้าหมาย และจะนำข้อมูลที่ได้หรือเรือต้องสงสัยเหล่านี้ส่งให้กับ GISTDA เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบภาพถ่ายผ่านดาวเทียมว่า ปรากฎภาพเรือเหล่านี้ได้กระทำความผิดทิ้งของเสียจากน้ำมันเหล่านี้ลงทะเลหรือไม่ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายณชพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากการประสานข้อมูลกับทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งนำเฮลิคอปเตอร์ทำการบินสำรวจตามแนวชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ต ไม่พบคราบน้ำมันเพิ่มเติม คาดว่า ภายใน 1-2 วันนี้น่าจะหมดไป