'ใบยอ' สร้างอาชีพ เกษตรกรพิจิตรปลูกส่งขายนอก เปิดประโยชน์-สรรพคุณของต้นยอ
อาชีพเสริม! เกษตรกรพิจิตรหันปลูก 'ใบยอ' ส่งขายต่างประเทศสร้างรายได้งาม พร้อมเปิดประโยชน์และสรรพคุณของ 'ต้นยอ'
วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดพิจิตร น.ส.แก้วตา อินหัน เกษตรกรผู้ปลูก 'ใบยอ' ส่งออก หมู่ 1 ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร โดยสร้างรายได้เสริมด้วยการ 'ปลูกใบยอ' จำหน่ายไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น โดยมีการปลูกแซมในพื้นที่สวนอินทผาลัม
น.ส.แก้วตา เผยว่า การตัดใบยอส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นจะมีบริษัทมารับซื้อถึงสวน สามารถจำหน่ายกิโลกรัมละประมาณ 12-16 บาท โดยการตัดยอดใบยอจำหน่ายนั้นต้องมีการตัดกิ่งใบยอติดไปด้วย เพื่อให้ใบยอไม่เหี่ยวเฉาง่าย และคนญี่ปุ่น ชอบรับประทานใบยอที่ใกล้จะแก่ เพราะนอกจากจะเป็นอาหารแล้วใบยอยังเป็นยาอีกด้วย ต่างจากคนไทยที่ชอบรับประทานใบยอที่อ่อนๆ
น.ส.แก้วตา เผยอีกว่า ขณะนี้การ 'ปลูกใบยอเพื่อส่งออก' ยังมีความต้องการของตลาดอีกจำนวนมาก ตนจึงได้ชักชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มกันเพื่อปลูกเป็นอาชีพเสริม และเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดส่งออก ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มมีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงมาซื้อต้นยอเพื่อนำไปเพาะปลูกกันบ้างแล้ว
สำหรับ 'สรรพคุณของต้นยอ' นั้นมีประโยชน์มากมายตั้งแต่ใบไปจนถึงราก จึงมีผู้คนปลูกไว้เพื่อเป็นยาสมุนไพรในบ้านกันเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยผลของยอที่มีกลิ่นเหม็นและการตลาดที่ยังไม่แพร่หลายทำให้ใครหลายคนมองข้ามการปลูกยอไปว่าสามารถช่วยสร้างรายได้เหมือนกัน
การปลูกต้นยอนั้นสามารถปลูกแซมกับไม้ผลที่ปลูกอยู่ได้ เช่น ปลูกต้นยอปะปนกับต้นอินทผาลัม และสามารถปลูกระยะประชิดได้ ทำให้ประหยัดเนื้อที่ในการปลูกและเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะใบยอสามารถสร้างรายได้ให้ตลอดทั้งปี และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
'ยอ' (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda citrifolia L.) เป็นไม้ยืนต้น ต้นสี่เหลี่ยม เปลือกต้นเรียบ ใบสีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ฐานดอกติดกันแน่นเป็นทรงกลม ผลทรงยาวรี เมื่ออ่อนสีเขียว พอสุกเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล เนื้อนุ่ม รสเผ็ด กลิ่นแรง มีเมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาลเข้ม
สารอาหาร - สารเคมีในผลยอ
'ใบอ่อน' นำมาลวกกินกับน้ำพริก แกงจืด แกงอ่อม หรือใช้รองกระทงห่อหมก ผัดไฟแดง 'ลูกยอสุก' กินกับเกลือหรือกะปิ 'ลูกห่าม' ใช้ตำส้มตำ ปัจจุบันมีการนำลูกยอไปคั้นเป็น 'น้ำลูกยอ' ใช้ดื่มเป็นยาลดความดันโลหิต ทำให้นอนหลับ ป้องกันโรคภูมิแพ้
'ลูกยอบด' ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรตและเส้นใย มีธาตุอาหารที่พบในน้ำลูกยอเล็กน้อย ในลูกยอบดมี วิตามินซี ไนอะซิน (วิตามิน B3) , เหล็ก และโพแทสเซียม วิตามินเอ , แคลเซียม และ โซเดียม เมื่อคั้นเป็นน้ำจะเหลือแต่วิตามินซี ในปริมาณครึ่งหนึ่งของส้มดิบ แต่มีโซเดียมสูงกว่า
ลูกยอมีสารเคมีหลายชนิด เช่น ลิกนัน โพลีแซคคาไรด์ ฟลาโอนอยด์ อีริดอยด์ กรดไขมัน สโคโปเลติน และ อัลคาลอยด์ แม้จะมีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารเหล่านี้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการสรุปถึงประโยชน์ต่อมนุษย์
ประโยชน์ของ 'ยอ'
'ใบสด' ใช้สระผม กำจัดเหา 'ผลยอแก่' มี asperuloside แอนโทรควิโนน ช่วยขับพยาธิ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ในโพลีเนเซีย ใช้ผลอ่อน ใบและรากใช้รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ความระคายเคืองในทางเดินอาหาร เบาหวาน โรคเกี่ยวกับตับ และการติดเชื้อในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ใช้น้ำคั้นจากผลรักษาดีซ่าน 'ราก' ใช้ย้อมสีให้สีแดงหรือสีน้ำตาลอ่อน เปลือกให้สีแดง เนื้อในเปลือกสีเหลืองใช้ย้อมสีผ้าบาติก ในฮาวาย สกัดสีเหลืองจากรากยอใช้ย้อมผ้า มีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดยอซึ่งมีกรดลิโนเลอิกมาก ใช้ทาลดการอักเสบและลดการเกิดสิว
ข้อมูลจาก wikipedia.org
โดย สายันต์ ชูฉ่ำ จ.พิจิตร