สุราก้าวหน้า (ภาค2) 'เพื่อไทย ไม่ใช่เพื่อใคร'
สุราก้าวหน้าภาคแรกถูกสภา(ชุดเก่า) ตีตกไปเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ลองมาพิจารณาทบทวนกันอีกครั้ง ว่า “อะไร” เป็นสาเหตุที่ทำให้พรรคก้าวไกลกล้าผลักดันกฎหมายนี้ โดยให้คำมั่นผ่าน MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า “จะเร่งดำเนินการภายใน 100 วันแรก ของการเป็นพรรคผู้นำรัฐบาล”
และเช่นกัน แม้คำกล่าวข้างต้นจะกลายเป็นหมันไปแล้วอย่างที่ทุกท่านได้ทราบดี แต่ “ทำไม” พรรคเพื่อไทย ที่ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ ยังคงประกาศจุดยืนสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่นนี้ กฎหมายดังกล่าวนี้ “มีดีอะไร?”
การตัดสินใจ “สนับสนุน” หรือ “ไม่สนับสนุน” สุราก้าวหน้า ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวนั้น ว่า “การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงหรือไม่?” โดยมีกรอบให้พิจารณาหลักๆ อยู่ 4 ส่วน
1.พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการเรียกเก็บภาษี การขออนุญาตผลิตหรือมีเครื่องกลั่น การขออนุญาตนำเข้า การขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ อ้างอิงจากสถิติการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ระบุชัดเจนว่าสามารถจัดเก็บจากสุราแช่ชนิดเบียร์ 85,035.20 ล้านบาท และจากสุราประเภทอื่นๆ 59,260.11 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินภาษีกว่า 1.45 แสนล้านบาท จากมูลค่าทางการตลาดรวม 400,000 ล้านบาท/ปี เช่นนี้
ในเมื่อกรมสรรพสามิตมิได้ทำเพียงแค่จัดเก็บภาษี แต่ยังมีหน้าที่โดยตรงในการอนุญาตและสร้างกลไกการควบคุมตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบใบอนุญาต เป็นเครื่องมือกลั่นกรองผู้ผลิตที่จะเข้าสู่วงการ
คำถามง่ายๆ คือ จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากระบวนการข้างต้นนั้น สามารถนำผู้ประกอบการที่ยังอยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานทางการผลิต และสร้างหลักประกันการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มผู้ลงทุนดังกล่าวที่มากขึ้นตามจำนวนผู้ประกอบการ
2.กฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา พ.ศ.2565 เป็นกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขและรูปแบบในการที่ผู้ประกอบการกลุ่มใดจะมาขอใบอนุญาตนั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปคือ กำหนดเงื่อนไขของการประกอบกิจการที่ถูกต้องโดยรัฐเป็นผู้กำหนด
ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น คือ “เงื่อนตาย” มากกว่า ทั้งเรื่องทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ กำลังการผลิตที่สูงจนผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าถึง จนทำให้ก่อนการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา พ.ศ.2565 มีผู้ประกอบการเพียง 7 รายที่ทำได้ตามเงื่อนไขของการผลิตเพื่อค้าเท่านั้น
ถึงแม้ภายหลังประกาศใช้กฎกระทรวง ปี 2565 ที่ใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจะได้ทำการแก้ไข เงื่อนตายที่รัฐได้ผูกไว้ในบางส่วนไปบ้าง แต่ก็ยังมีการกำหนดแรงม้าของเครื่องผลิตสุรา หรือข้อกำหนดอื่นๆ ตามอธิบดีเห็นสมควร
ข้อกำหนดใหม่นี้อาจจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำมากกว่า 100,000 ลิตรตามฉบับก่อนด้วยซ้ำ หรือแก้เงื่อนไขที่กำหนดให้โรงเบียร์บรรจุขวด แม้ไม่ต้องผลิตตามปริมาณขั้นต่ำแต่ต้องบังคับทำ EIA อันมีไลน์บรรจุเพื่อยิงสติกเกอร์ติดได้ทุกขนาด ซึ่งใช้เวลาในการยื่นขอที่นานและมีค่าใช้จ่ายที่สูง
มากไปกว่านั้น หากเป็นสุรากลั่นพิเศษ เช่น วิสกี้ ลิเคียว จิน รัม ยังคงต้องผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวันเช่นเดิม โดยไม่มีการปรับเงื่อนไข เห็นได้ว่าเงื่อนไขใหม่นี้กลับไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่ต้องการเข้าแข่งขันในตลาดดังกล่าวแต่อย่างใด
สวนทางกับประเทศอังกฤษที่รัฐบาลลดภาษีให้ผู้ผลิตเบียร์ในปริมาณไม่เกิน 5 แสนลิตรต่อปี หากผลิตถึง 6 ล้านลิตรต่อปี ถึงจะต้องจ่ายภาษีเต็มอัตรา กล่าวคือ สนับสนุนผู้ผลิตเบียร์รายย่อยนั่นเอง
3.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมมิให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนสร้างปัญหาให้สังคม ผ่านการควบคุม กำหนดคำเตือนลงบนบรรจุภัณฑ์ กำหนดข้อห้ามกระทำต่อผู้ประกอบการ เช่น การห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายหรือดื่มในบางสถานที่หรือบางเวลา ห้ามขายแก่เยาวชน และห้ามส่งเสริมการขาย
เห็นได้ชัดว่ากฎหมาย 2 ฉบับที่กล่าวไปก่อนหน้ามีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสผู้ผลิตสุราพื้นบ้านเข้าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ลดการกีดกันทางการค้าเพื่อให้เกิดตลาดที่เสรีอันส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีความหลากหลายเพื่อป้องกันการล้นตลาด
กฎหมายฉบับที่สามนี้ถือเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลความเสรีข้างต้นไม่ให้มีมากจนเกินไป อันส่งผลต่อประชากรโดยรวม ทั้งมิติของผู้ดื่มอันเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และการเป็นผู้ดื่มหน้าใหม่
รวมถึงมิติของสังคมที่ต้องรับความเสี่ยงจากความรุนแรงที่เกิดตามมาจากผลโดยอ้อมของนักดื่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกำหนดไว้โดยชัดเจน ทั้งหลักการ บทลงโทษ และต่อยอดไปถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา
4.พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติเรื่องการลงโทษผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไปขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งจะถูกลงโทษตามกฎหมายจราจรทางบก รวมทั้งอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ เป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อดูแลบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมในสังคม จากการกระทำความผิดที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลในขณะมึนเมา
ถึงตรงนี้ยิ่งชัดเจนว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต และกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา ที่เรารู้จักในนาม “สุราก้าวหน้า” นั้น หาใช่การสร้างกฎหมายเพื่อให้เสรีในการประกอบธุรกิจหรือดื่มสุรา
แต่กลับกันคือ การปรับปรุงกฎหมายให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นต่อสิทธิของผู้ประกอบการรายย่อย และสิทธิของนักดื่มในการมีเสรีภาพที่จะเลือกบริโภคที่หลากหลาย ส่งผลต่อกลไกการแข่งขันทางการค้าที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้การควบคุมที่รัฐได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พ.ร.บ.จราจรทางบก
อันตอบโจทย์คนไทยทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะ “ดื่ม” หรือ “ไม่ดื่ม” สุรา “อยากประกอบธุรกิจ” หรือ “ไม่อยากประกอบธุรกิจ” ประเภทนี้ก็ตาม.