ปภ. เตือน 22 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง
ปภ. แจ้งเตือน 22 จังหวัด เหนือ - อีสาน - กลาง - ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 29 ส.ค. - 3 ก.ย. 66
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 12.00 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (226/2566) ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566 ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย)
- เชียงราย (อ.แม่สาย เชียงแสน แม่จัน)
- น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ ปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง)
- อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด)
- ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด)
- พิษณุโลก (อ.วังทอง นครไทย ชาติตระการ)
- เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ หล่มเก่า หล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่
- เลย (อ.ด่านซ้าย นาแห้ว)
- นครราชสีมา (อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว)
- บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ)
- สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท)
ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่
- กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ)
- นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี)
- ปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี นาดี)
- ชลบุรี (อ.บ้านบึง ศรีราชา บางละมุง)
- ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย)
- จันทบุรี (อ.เมืองฯ เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง)
- ตราด (ทุกอำเภอ)
ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่
- ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ)
- พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
- พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่
- ชลบุรี (อ.เมืองฯ ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ)
- ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านฉาง แกลง)
- จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ ขลุง)
- ตราด (อ.เมืองฯ แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด)
ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่
- ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ)
- พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด
รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก หรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น