คดีกาแฟร้อน ถึงเคส "ปังชา" | พิเศษ เสตเสถียร
"ปังชา" ข่าวดังในรอบสัปดาห์ จากการที่ทนายความของร้านลูกไก่ทองยื่นโนติสให้ร้านค้าทั้งหลาย ที่ขายขนมปังน้ำแข็งราดด้วยชาไทย หยุดใช้ชื่อ “ปังชา” ก็เกิดกระแสตีกลับทางร้านอย่างรุนแรง
จนเจ้าของต้องออกมาขอโทษและยุติการที่จะดำเนินคดี เรียกว่าจากที่เป็นโจทก์กลายเป็นจำเลยไปเลยทีเดียว
เรื่องของปังชา ทำให้นึกถึง "คดีกาแฟร้อนของ McDonald" ซึ่งมีชื่อคดีอย่างเป็นทางการว่าคดี Liebeck v. McDonald's Restaurants ซึ่งเป็นคดีซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990
คดีนี้เกี่ยวข้องกับหญิงวัย 79 ปีชื่อคุณยาย Stella Liebeck ซึ่งไปที่ร้าน McDonald's ประเภท drive-thru ในเมือง Albuquerque รัฐ New Mexico เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1992 คุณยาย Liebeck ซื้อกาแฟแก้วหนึ่งมากินในรถ
ในขณะที่พยายามเปิดฝาถ้วยกาแฟเพื่อเติมน้ำตาล เธอก็ทำกาแฟร้อนหกลวกลงบนตักของเธอ ทำให้เกิดแผลน้ำร้อนลวกอย่างรุนแรง ภาษาทางการแพทย์เรียกว่าถูกน้ำร้อนลวกระดับ 3 ที่ต้นขา บั้นท้าย และอวัยวะเพศ ส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 8 วัน และรวมถึงการปลูกถ่ายผิวหนังและรักษาตัวอีก 2 ปี
ในเบื้องต้น คุณยาย Liebeck เรียกค่าเสียหายแค่ 20,000 ดอลลาร์ แต่ McDonald’s ปฏิเสธและเสนอการชดใช้ให้เพียง 800 ดอลลาร์ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงแค่ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่พอแล้ว คุณยายเลยต้องนำคดีมาฟ้องศาล
ในระหว่างการพิจารณาคดี มีการเปิดเผยว่า McDonald's ชงกาแฟเก็บไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 82 ถึง 88 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรมในขณะนั้นอย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าอุณหภูมิที่สูงเช่นนี้อาจทำให้เกิดการไหม้อย่างรุนแรงภายในไม่กี่วินาทีที่สัมผัสกับผิวหนัง
คณะลูกขุนตัดสินว่า McDonald's ต้องรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บของนาง Liebeck และตัดสินให้เธอได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 2.7 ล้านดอลลาร์ แต่ศาลได้ลดลงมาเป็นค่าชดเชยความเสียหาย 160,000 ดอลลาร์ และค่าเสียหายอีก 480,000 ดอลลาร์ แต่ภายหลังโจทก์และจำเลยไปตกลงกันได้ในจำนวนที่ไม่ได้มีการเปิดเผย
กรณีดังกล่าวได้นำไปสู่การตระหนักที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับปัญหาความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงฉลากคำเตือนและอุณหภูมิในการเสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนโดยร้านอาหารหลายแห่ง
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคดีเด็กหญิงอายุ 4 ขวบชื่อ Olivia Caraballo ที่ได้รับบาดเจ็บจากอาหารร้อนเมื่อไก่ทอดชิ้นเล็กที่เรียกว่า McNugget ตกลงบนขาของเธอ ในขณะที่แม่ของเธอถอยรถออกจากร้าน McDonald's
คุณแม่ของเด็กหญิง ให้การว่า McDonald's ไม่เคยเตือนว่าอาหารอาจร้อนผิดปกติ ข้างฝ่าย McDonald's ให้การว่าพวกเขาปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งกำหนดให้ McNuggets ต้องร้อนพอที่จะหลีกเลี่ยงพิษจากเชื้อ Salmonella
และสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาหารเมื่อออกจากหน้าต่างไดร์ฟทรูนั้นอยู่เหนือการควบคุมของพวกเขา คณะลูกขุนในศาล Broward County ทางตอนใด้ของรัฐ Florida,ตัดสินให้เงิน 800,000 ดอลลาร์ให้เป็นค่าเสียหายแก่เด็กหญิง
คนขายของกินนี่มีปัญหากฎหมายมากเหมือนกันนะครับ.