กรมชลประทาน จัดจราจรน้ำชี-มูล เร่งระบายน้ำลงโขง หลังมีฝนตกหนักภาคอีสาน
ชลประทาน จัดจราจรน้ำชี-มูล เร่งระบายน้ำลงโขง หลังมีฝนตกหนักภาคอีสาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน นั้น กรมชลประทาน ได้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุกมิติ พบว่าพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกอย่างเนื่อง อาทิ บริเวณลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำชี-มูลตอนกลางและตอนล่าง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคอีสาน เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการจัดจราจรทางน้ำให้สอดคล้องกัน เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล แม้ว่าจะยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่ได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไว้ประจำจุดเสี่ยง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงต่อไปแล้ว
สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อาทิ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ด้านพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ นั้น ได้เน้นย้ำให้มีการรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฝนให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
ทั้งนี้ ใกล้จะเข้าสู่ฤดูฝนของทางพื้นที่ภาคใต้ตอนบนแล้ว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมรับสถานการณ์ รวมทั้งประเมินศักยภาพการรับน้ำของพื้นที่ท้ายอ่างฯ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญขอให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติม ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้มากที่สุด
กรมชลประทาน เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง รับมือน้ำหลาก จ.อุบลราชธานี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากในระยะที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลในปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 100 เครื่อง ในแม่น้ำมูล บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ระดมสรรพกำลังเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ฝนตกกาฬสินธุ์ ทำน้ำล้นอาคารระบายน้ำล้นหลายแห่ง แต่ไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
นายสุรพล สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังมีฝนตกสะสมต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่ปัจจุบัน (16 ก.ย. 66) มีปริมาณน้ำเกินความจุอยู่ 11 แห่ง ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์
- อ่างเก็บน้ำห้วยแกง
- อ่างเก็บน้ำห้วยสีทน
- อ่างเก็บน้ำห้วยฝา
- อ่างเก็บน้ำห้วยสะทด
- อ่างเก็บน้ำห้วยสังเคียบ
- อ่างเก็บน้ำห้วยจาน
- อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน
- อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง
- อ่างเก็บน้ำลำพะยัง (ตอนบน)
- อ่างเก็บน้ำห้วยจูมจัง
ทั้งนี้ แม้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าว จะมีปริมาณน้ำเต็มความจุ แต่อ่างฯ ทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง ส่วนน้ำที่ล้นจะไหลออกทางอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) และจะควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป